“ฮ่องกง” ระบบเศรษฐกิจเสรี

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ฮ่องกงเป็นระบบเศรษฐกิจอันหนึ่งที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเศรษฐกิจที่เจริญใหม่ หรือหนึ่งในบรรดาประเทศ NIE”s ซึ่งย่อมาจาก Newly industrialized economies แทนคำว่าประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ NIC”s หรือ Newly industrialized countries ตามทฤษฎีห่านบิน หรือ Flying Geese Theory ของ ดร.โอกิตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ผู้เสนอนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตชายฝั่งตะวันออก หรือพื้นที่ EEC หรือ Eastern Economic Corridor ในปัจจุบันเราเคยคิดจะพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นเสือตัวที่ 5 ต่อจากประเทศ NIC”s หรือ NIE”s

ศาสตราจารย์ ดร.มิลตัน ฟรีดแมน เจ้าของเศรษฐศาสตร์สำนักดั้งเดิมใหม่ หรือ Neo Classical School ซึ่งความคิดตรงกันข้ามกับ เซอร์จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ดร.ฟรีดแมนเชื่อว่าในระยะปานกลางและระยะยาว การผลิตสินค้าและบริการเป็นตัวกำหนดรายได้ของผู้คนในระบบเศรษฐกิจ ในระยะปานกลางและระยะยาว การผลิตเกินความต้องการของตลาดเป็นไปไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราสูงสุด ฟรีดแมนยกฮ่องกงเป็นตัวอย่างที่อังกฤษปล่อยให้เป็นเมืองท่าเสรี ไม่มีภาษีขาเข้าขาออก

มีเพียงภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในอัตราต่ำอัตราเดียว คือ 17 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอัตราก้าวหน้าตามหลักความสามารถในการจ่ายภาษีอากร “ability to pay” ตามหลักของ อดัม สมิท และ เดวิด ริคาร์โด เศรษฐกิจฮ่องกงเริ่มจากความเหลื่อมล้ำสุดขีด ผู้คนที่หนีจากระบอบคอมมิวนิสต์ลอยเรือในอ่าวอเบอร์ดีนแออัดยัดเยียด เต็มไปด้วยโสเภณี กรรมกรหาเช้ากินค่ำ แหล่งโสเภณีมีอยู่ทั่วไป และจะมาเคาะถามถึงห้องพักในโรงแรม เช่นเดียวกับไทเปที่เกาะไต้หวัน ผู้คนโดยทั่วไปยากจนกว่าคนไทยมาก

เมื่อจีนเปิดประเทศโดย เติ้ง เสี่ยวผิง ฮ่องกงและไต้หวันซึ่งมีเงินทุน นำเงินทุนมาลงทุนในจีนก็รุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งจีน แล้วนำสินค้าจากจีนไปส่งที่อเมริกา สมัยที่อเมริกาและไต้หวันยังไม่ยอมเปิดประเทศรับสินค้านำเข้าจากจีน ฮ่องกง จึงเจริญขึ้นกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือ developed economy คนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 50 ปีลงมาไม่เคยเห็นความยากจนสมัยเมื่อยังคงเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มาเห็นฮ่องกงตอนฮ่องกงเจริญตามจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่แล้ว

ในยามที่เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวในอัตราที่สูง จีนกำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น เศรษฐกิจของฮ่องกงได้อานิสงส์สุด ๆ การปล่อยให้เศรษฐกิจฮ่องกงเป็นเศรษฐกิจเสรีตามในขณะที่ประเทศอื่นดำเนินนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ตั้งกำแพงภาษีสูง ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปซื้อของ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ซื้อทองคำรูปพรรณ รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ พ่อครัวฝีมือดีจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ยูนนาน และที่อื่น ๆ ต่างอพยพออกจากจีน เพราะรัฐโอนกิจการร้านอาหารและโรงแรมมาเป็นของรัฐ โรงแรมและร้านอาหารปิดตัวลง ย้ายเข้ามาฮ่องกงและมาเก๊าเป็นหลัก ทำให้โรงแรมซึ่งมีผู้หญิงให้บริการ ภัตตาคารจีนที่เลิศรสที่สุดมาอยู่ที่ฮ่องกง ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างทำรองเท้า ช่างทำฟันเลี่ยมทอง ซึ่งเป็นที่นิยมสมัยนั้นก็ต้องมาที่ฮ่องกง

สมัยนั้นฮ่องกงเป็นตลาดเสรีทางการเงินด้วย อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงอย่างเสรี ใครจะเก็บทองคำหรือเงินตราต่างประเทศ ไม่ต้องส่งมอบกับทางการก็ทำได้ ทำให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินไปด้วย ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงกลายเป็นตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่ใหญ่สุดในเอเชีย บริษัทใหญ่ ๆ นิยมไปจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็งกลายเป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ใช้อ้างอิงทั่วโลก เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่เปิดก่อนตลาดอื่น ยกเว้นตลาดเซี่ยงไฮ้ บริษัทไทยเวลาจะทำสัญญาซื้อขายหรือกู้ยืมก็นิยมไปทำกันที่ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ เพราะไม่ต้องติดอากรแสตมป์อย่างในเมืองไทย

เมื่อตอนจีนยังยากจนอยู่ก็เรียกร้องขอเป็นอิสระจากจีนและขอเป็นตลาดเสรี ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามายุ่งเกี่ยว ภาษีก็ไม่ให้เก็บ ทั้งภาษีจากเงินปันผลและเงินได้จากดอกเบี้ย เพื่อดึงดูดเงินทุนซึ่งทำได้สำเร็จ จีนทำสัญญากับอังกฤษจะปล่อยให้คงระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปอีก 50 ปี

รายรับของรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษบังคับเช่ามาจากฮ่องเต้ เนื่องจากชนะสงครามฝิ่น 99 ปี ดังนั้น ที่ดินทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเกาะฮ่องกง เกาลูน และดินแดนใหม่ ล้วนเป็นที่เช่าทั้งสิ้น และหมดสัญญาเช่าเมื่อปี 1997 แต่รัฐบาลจีนให้คงสภาพเดิมได้ 50 ปีหลังจากมีการส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีน เมื่อมีการเช่าช่วงก็จะเปิดประมูล ทำให้ราคาที่ประมูลสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีเศรษฐีใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าร่วมประมูล ขณะเดียวกัน นายทุนฮ่องกง เช่น นายลี กาซิง ก็ขายอสังหาฯ ในฮ่องกง นำเงินไปซื้ออสังหาฯ ที่อังกฤษ ทำให้ค่าเช่าอสังหาฯ ในลอนดอนก็สูงขึ้นด้วย

เหตุการณ์ในฮ่องกงครั้งนี้จะทดสอบว่า “ทฤษฎีหนึ่งประเทศสองระบบ” จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก่อนที่ฮ่องกงจะผนึกเข้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะเมื่อฮ่องกงตกผนึกเข้ากับจีนผืนแผ่นดินใหญ่แล้ว คงไม่ใช่ “เขตปกครองตนเอง” เหมือนเขตปกครองตนเองอื่น ๆ ที่เป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย เช่น แมนจูเลีย มองโกเลีย ในทิเบต ซินเจียง และกว่างซีจ้วง เป็นต้น ไต้หวันนั้นจีนถือว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ขณะเดียวกัน รัฐบาลไต้หวันก็ถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนเหมือนกัน

แต่รัฐบาลที่ไทเปเป็นรัฐบาลของจีนรัฐบาลเดียว ฮ่องกงเคยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้งที่ไม่ใช่เขตปกครองตนเอง ไม่ใช่จากเหตุชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างเขตอื่น ๆ ที่หัวหน้าชนกลุ่มน้อย เช่น แมนจู มองโกล ที่สามารถเอาชนะจีนได้แล้วย้ายเมืองหลวงมาอยู่ปักกิ่ง

โดยได้นำเอาดินแดนของตนมาผนวกรวมกับจีนด้วย ส่วนซินเจียงเป็นผู้มาสวามิภักดิ์และนำดินแดนของตนมารวมกับจีน ทิเบตและยูนนานนั้นจีนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนมานานแล้ว จีนจึงพูดอยู่เสมอว่าจีนไม่เคยรุกรานเพื่อแย่งดินแดนของใคร มีแต่ผู้อื่นมาตีจีนแล้วนำดินแดนของตนมารวมกับจีน

การเป็นประเทศเดียวกันแล้วแยกระบบเศรษฐกิจเป็น 2 ระบบย่อมยุ่งยากเรื่องกฎหมาย เรื่องภาษีอากร การไหลไปมาของสินค้าและบริการ แต่ห้ามการไหลไปมาของแรงงานเป็นสิ่งที่ยาก

ด้วยเหตุนี้ เงินทุนและแรงงานย่อมจะหาหนทางไหลไปสู่เขตที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า การที่ฮ่องกงไม่ได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับระบบเศรษฐกิจและการเมืองของจีน แต่เป็นประเทศเดียวกัน ย่อมทำให้ทุนจากฮ่องกงไหลไปลงทุนในจีน ผลิตสินค้าและบริการแข่งขันกับจีน แทนที่จะใช้ฮ่องกงเป็นทางออกของสินค้าและบริการของจีนไปสู่ตลาดระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน เงินจากคนรวยจากจีนก็เข้ามาซื้อสิทธิการเช่าอสังหาฯ ในฮ่องกง ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย หรือฐานะทางสังคมของคนจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ ราคาค่าเช่าอสังหาฯ และห้องชุดห้องพักจึงถีบตัวสูงขึ้นรวดเร็ว

สำหรับคนที่ร่ำรวย เจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ หรือเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทอสังหาฯ ก็ไม่เป็นไรเพราะได้ประโยชน์ แต่สำหรับคนชั้นล่างเจ้าของกิจการขนาดย่อยหรือผู้ใช้แรงงานก็แย่หน่อย เพราะนอกจากจีนจะพัฒนาเสิ่นเจิ้นขึ้นมาแข่งขันกับฮ่องกง ทุนฮ่องกงไหลไปแผ่นดินใหญ่ บริษัทห้างร้านในฮ่องกงก็หยุดเติบโต ต้องอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนและชาติอื่น ๆ ที่เดินทางมาซื้อของปลอดภาษี เข้ามารับประทานอาหารจีนจากภัตตาคารชั้นหนึ่งในฮ่องกง

คนฮ่องกงควรจะปรับทัศนคติเสียใหม่ยอมรับความจริงว่า ที่คนฮ่องกงเป็นเช่นนี้ก็เพราะจักรวรรดินิยมอังกฤษใช้อำนาจรังแกจีน ขายฝิ่นให้คนจีนเสพเพื่อกำไรมหาศาลและเพื่อให้รัฐบาลจีนอ่อนแอ ดูถูกเหยียดหยามคนจีนซึ่งบรรพบุรุษของคนฮ่องกงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกดูถูกเหยียดหยาม ควรจะภูมิใจที่ขบวนการกู้ชาติของจีนสามารถปลดแอกได้สำเร็จ ควรจะภูมิใจที่ฮ่องกงจะได้กลับไปสู่อ้อมอกของมาตุภูมิ ควรปรับตัวกลับไปเป็นจีนที่มีอารยธรรมนับเนื่องมากว่า 4,000 ปี ก่อนคนอังกฤษเป็นไหน ๆ ไม่ควรจะภูมิใจที่ตนเกิดมาอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ไม่ควรภูมิใจที่ตนพูดอังกฤษได้ดีกว่าพูดจีน ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยามคนจีนที่มาตุภูมิ ไม่ควรจะอพยพหลบหนีไปเป็นพลเมืองชั้น 2 ที่อเมริกาหรือยุโรป ต้องมีปมด้อย ลูกหลานเกิดมาก็มีปมด้อย หน้าตาผิวพรรณเป็นคนเอเชียเป็นอีกวรรณะหนึ่งในอเมริกาหรือยุโรป

ควรจะใช้เงินทุนความรู้ความสามารถกลับไปเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของจีนอย่างเต็มภาคภูมิ เพราะการเป็นพลเมืองจีนไม่ได้ต่ำต้อยกว่าชาติใด ๆ ในยุโรป ทั้งทางอวกาศ ทางวิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การแพทย์ มีความเจริญก้าวหน้าที่เหนือกว่าฝรั่งมังค่าตั้งมากมาย วิศวกรรมต่าง ๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปวิทยาการก็ทันสมัย มีอารยธรรมมาก่อนยุโรปมากมาย ไม่ต้องพูดถึงอเมริกา ที่สำคัญเป็นความภูมิใจของชาวเอเชียทั้งปวง เยาวชนฮ่องกงควรคิดเสียใหม่

ก่อนจะสายเกินไป