สถานการณ์ที่ต้องติดตาม ส่องไทม์ไลน์ไตรมาส 4

(AP Photo/Stephen B. Morton, File)

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ค่อย ๆ ชะลอลงนับแต่ต้นปีจนปัจจุบัน และมองไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ไม่เห็นปัจจัยบวกที่ชัดเจน ในขณะที่ปัจจัยลบทั้งจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และวัฏจักรการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่รุมเร้ามาแต่ต้นปี ก็เริ่มจะส่งผลต่อเศรษฐกิจจริง(การผลิต การจ้างงาน และรายได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง) มากขึ้น สำหรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าที่สำคัญ ได้แก่

– การเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนในวันที่ 10-11 ตุลาคม โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนจะเดินทางไปสหรัฐ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับดำเนินการของทั้งสองฝ่ายได้เริ่มประชุมกันในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งต้องรอดูว่าการเจรจาจะราบรื่นและบรรลุข้อตกลงอะไรได้หรือไม่ (การเจรจาที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้ง ในรอบ 1 ปี ล้มเหลวและความขัดแย้งขยายวงกว้างหลังการเจรจาทุกครั้ง)

ทั้งนี้ การที่สหรัฐประกาศชะลอการขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญ จาก 25% เป็น 30% จากวันที่ 1 ตุลาคม เป็น 15 ตุลาคม ทำให้คาดหวังว่าสหรัฐและจีนน่าจะสามารถบรรลุข้อตกลง (พักรบชั่วคราว) บางประการได้ ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีในระยะสั้นของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงิน แต่ไม่ใช่กับเศรษฐกิจ เพราะผลกระทบของการขึ้นภาษีต่อการบริโภค และการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว และจะมีต่อเนื่องไปในปีหน้า

– กลางเดือนตุลาคม กระทรวงการคลังสหรัฐจะออกรายงานเกี่ยวกับการค้าและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ สหรัฐจะระบุว่าประเทศไหนแทรกแซงค่าเงินอย่างไม่เป็นธรรมกับสหรัฐหรือไม่ ซึ่งรายงานเมื่อเดือนเมษายนนั้น ยังไม่มีประเทศไหนเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ ที่สหรัฐกำหนดว่าเป็นประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน ส่วนจีนนั้นติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องติดตาม (มี 9 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี อิตาลี ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม)

อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม ช่วงที่การเจรจาการค้ากับจีนล้มเหลวนั้น กระทรวงการคลังสหรัฐได้ประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน (currency manipulator) จึงต้องติดตามดูว่ารายงานในเดือนตุลาคมนี้ จีนยังถูกกล่าวหาว่าเป็น currency manipulator หรือไม่ และกระทรวงการคลังสหรัฐเสนอแนะให้ดำเนินการอย่างไร

– Brexit : 31 ตุลาคม จะเป็นเส้นตายที่อังกฤษจะต้องออกจากอียู ซึ่งนายกฯจอห์นสันของอังกฤษต้องเจรจากับอียูให้เสร็จภายใน 18 ตุลาคม และกลับมาให้รัฐสภาอังกฤษอนุมัติ ซึ่งหากตกลงกับอียูได้ ก็มีประเด็นว่ารัฐสภาจะเห็นชอบแผนหรือไม่ และถ้าตกลงกับอียูไม่ได้ นายกฯจอห์นสันจะนำพาอังกฤษออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง (no deal Brexit) อย่างที่หลายฝ่ายกำลังกังวล หรือจะถูกบีบจากรัฐสภาให้ไปขอขยายเส้นตายออกไปถึงเดือนมกราคมปีหน้า หรือถูกบีบให้ลาออก และมีการเลือกตั้งใหม่ สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะเป็นไปทางไหน ซึ่งหากอังกฤษต้องออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง จะเป็นสถานการณ์ที่แย่สุด สำหรับอังกฤษ เพราะดูเหมือนว่ายังไม่ได้มีการเตรียมการกรณีนี้ไว้เลย ซึ่งน่าจะกระทบกับตลาดการเงิน และเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญใน 3-6 เดือนข้างหน้า

– 13 พฤศจิกายน สหรัฐจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการปรับภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งคาดการณ์ว่าสหรัฐน่าจะเลื่อนกำหนดการตัดสินใจออกไป เพราะคงไม่อยากก่อศึกทั้งกับจีนและยุโรป นอกจากนั้น หากขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วน น่าจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญได้

– 17 พฤศจิกายน ครบกำหนดที่สหรัฐผ่อนผันให้หัวเว่ยสามารถซื้อสินค้าเทคโนโลยีจากบริษัทในอเมริกา ต้องดูว่าจะมีการต่ออายุหรือไม่

– 15 ธันวาคม สหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลืออีก 160,000 ล้านเหรียญ ในอัตรา 15% ซึ่งจะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่กระทบกับประชาชนมากที่สุด

– และอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ กรณีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศเริ่มต้นกระบวนการไต่สวน หลังจากมีข้อมูลกรณีประธานาธิบดีทรัมป์คุยโทรศัพท์ขอให้ประธานาธิบดียูเครนสอบสวนนายโจ ไบเดน (ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต)ซึ่งมองได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ดังนั้น ใน 2-3 เดือนข้างหน้า ประเด็นเรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นหลัก ทั้งนี้ ก็มีความเสี่ยงว่ากระบวนการถอดถอนทรัมป์ จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายที่ต้องร่วมมือกันระหว่างสภาและประธานาธิบดี เช่น การผ่านกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งงบประมาณ ทำให้รัฐบาลสหรัฐอาจต้องเผชิญความเสี่ยงของการ “ชัตดาวน์” ในปลายเดือนพฤศจิกายน