ใช้เงินเดือนเป็นฐาน คำนวณอื่น ๆ ได้หรือไม่ ?

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

 

คำถามนี้มาจากคนที่ทำงานในบริษัทที่มีการจ่ายเงินอื่น นอกเหนือจากเงินเดือนครับ

ถ้าบริษัทไหนจ่ายเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการจ่ายเงินอื่น ๆอีกเลย ซึ่งถ้ามีการจ่ายแบบนี้ก็ใช้เงินเดือนเป็นฐานในการคำนวณค่าโอที, ขึ้นเงินเดือนประจำปี, จ่ายโบนัส, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า, เงินสมทบประกันสังคม ฯลฯ ก็คงจะไม่มีคำถามนี้

สำหรับบริษัทที่ไม่ได้จ่ายแต่เงินเดือนเพียงตัวเดียว แต่ยังมี “เงินอื่น” อีกหลาย ๆ ตัวที่จ่ายให้กับพนักงานด้วยสารพัดเหตุผลของผู้บริหาร เงินอื่น ๆ เหล่านี้ ก็เช่น ค่าครองชีพ, ค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ, ค่าตำแหน่ง, ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำมันรถ ฯลฯ

การจ่ายโดยมี “สารพัดค่า” นี่แหละครับ ทำให้เกิดคำถามข้างต้น

ในกฎหมายแรงงานไม่มีการพูดถึงสารพัดค่าเหล่านี้ และก็ไม่ได้พูดถึงคำว่า “เงินเดือน” ด้วยซ้ำ

แต่พูดถึงคำว่า “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 ที่จะต้องใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินต่าง ๆ ที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างตามกฎหมาย เช่น การคำนวณค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ, ค่าล่วงเวลาในวันหยุด, ค่าทำงานในวันหยุด, ค่าชดเชย, ค่าชดเชยพิเศษ,ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือถ้าทางด้านประกันสังคมก็ต้องใช้ค่าจ้างเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเพื่อนำส่งประกันสังคม

“ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 คืออะไร ?

ก็ตามนิยามนี้แหละครับ

“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้าง และลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

ซึ่งต้องมาตีความกันว่า เงินตัวไหนบ้างที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นค่าจ้าง ตัวไหนไม่ใช่ค่าจ้าง เช่น ค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ, ค่าตำแหน่ง ที่มีการจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานและจ่ายในเวลาทำงานปกติ อันนี้ก็เป็นค่าจ้างที่จะต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า, เงินสมทบประกันสังคมแหงแก๋

แต่ยังมีบริษัทอีกไม่น้อยที่ไม่นำเงินอื่นที่เข้าข่ายค่าจ้างรวมเข้าไปกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานในการคำนวณผลประโยชน์ให้กับพนักงานตามกฎหมายแรงงาน ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า…บริษัทอื่นเขาก็ไม่เห็นต้องนำมารวมกับเงินเดือนก็ยังไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย

ตอบมาอย่างนี้ก็ถูกอยู่หรอกครับว่า ตอนนี้ยังไม่มีปัญหา แต่ให้รู้ว่าการทำแบบนี้ผิดกฎหมายแรงงานอยู่ ถ้าเมื่อไหร่มีการร้องเรียนแรงงานเขต หรือพนักงานไปฟ้องศาลแรงงาน บริษัทก็มีปัญหาและคงต้องแพ้คดีในที่สุดแหละครับ

ก็เหมือนกับคนทำผิดกฎจราจรอยู่ในตอนนี้แหละ ที่มักจะชอบพูดว่า “ทีคนอื่นเขายังขับรถเร็วเกินกำหนด, จอดในที่ห้ามจอด ไม่เห็นเป็นไรเลย เราก็ทำมั่งสิ” ฉันใดก็ฉันเพลแหละครับ เราโดนจับโดนใบสั่งเมื่อไหร่ก็มีปัญหาแน่

คราวนี้เรามาดูกันอีกกรณีหนึ่ง คือการขึ้นเงินเดือนประจำปี และการจ่ายโบนัสล่ะ ถ้าบริษัทมีระเบียบว่าบริษัทจะใช้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้นเป็นฐานในการคำนวณ จะผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ ?

ตอบได้ว่ากฎหมายแรงงานเขาไม่ได้บังคับให้นายจ้างจะต้องขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างทุกปี และให้นำค่าจ้างมาเป็นฐานในการคำนวณนี่ครับ

ดังนั้น บริษัทไหนจะขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือจ่ายโบนัสให้กับพนักงานยังไง ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารของบริษัทนั้น ๆ จะให้หรือไม่ให้ ซึ่งเป็นสิทธิในการจัดการของนายจ้าง (ถ้าบริษัทไม่ไปทำให้เรื่องนี้กลายเป็นสภาพการจ้างนะครับ เช่น ดันไปออกประกาศว่าบริษัทจะจ่ายโบนัสให้กับพนักงานทุกปี ปีละ 4 เดือน โดยไม่มีเงื่อนไข อย่างงี้ก็จบข่าวครับ ต่อให้บริษัทขาดทุนยังไง ก็ต้องจ่ายโบนัสให้พนักงานทุกปี ซึ่งผมว่าในปัจจุบันคงไม่มีบริษัทไหนไปประกาศให้กลายเป็นสภาพการจ้างแบบนี้หรอกนะครับ)

จึงสรุปได้ว่าการขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือจ่ายโบนัส ขึ้นอยู่กับระเบียบหรือกติกาที่บริษัทจะสงวนสิทธิเอาไว้ โดยเขียนให้ชัดเจนว่าจะใช้เงินเดือนเท่านั้นเป็นฐานในการคำนวณ


หวังว่าคนที่สงสัยในเรื่องนี้จะเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ