ศุภวุฒิ สายเชื้อ แนะ “ทำอย่างไร สุขภาพดีตลอดชีวิต”

คอลัมน์ Healthy Aging

โดย ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 

หากตอบคำถามข้างต้นอย่างสั้นที่สุด ก็ต้องบอกว่า

1.อย่าแก่

2.อย่าอ้วน

1.อย่าแก่ : อันนี้ไม่ได้แกล้งเขียน เพราะ ดร.เดวิด ซินแคลร์ (David Sinclair) ศาสตราจารย์ที่ Harvard Medical School มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพิ่งเขียนหนังสือซึ่งนำมาจำหน่ายเมื่อเดือนกันยายนผ่านมา เชื่อว่า “Lifespan : Why we age – and Why we don”t have to” หากไม่คุ้นกับชื่อของ ดร.ซินแคลร์

ผมขอให้นึกถึงข่าวใหญ่เมื่อ 15 ปีก่อนที่มีการประโคมข่าวว่า กินไวน์แดงแล้วจะอายุยืน ดร.ซินแคลร์ คือ นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบว่า สาร resveratrol ที่อยู่ในเปลือกขององุ่นแดงนั้น หากนำไปให้หนูทดลองกินแล้ว จะเพิ่มจำนวนของ sirtuins หรือยีนส์ที่ควบคุมความแก่ของเซลล์ ทำให้หนูแข็งแรงไม่แก่และอายุยืน (แต่ปริมาณของ resveratrol ที่หนูกินนั้น เทียบเท่ากับการดื่มไวน์แดงประมาณ 400-500 แก้วต่อวัน จึงไม่น่าจะเป็นสูตรสำเร็จสำหรับการทำให้อายุยืน)

ในหนังสือเล่มนี้ ดร.ซินแคลร์กล่าวที่หน้า 89 ว่า

“After 25 years of research on aging and having read thousands of scientific papers, if there is one piece of advice I can offer, one surefire way to stay healthy longer, one thing you can do to maximize your lifespan right now, it”s this : eat less”

หนังสือเล่มนี้มีความยาวกว่า 300 หน้า และบางส่วนมีความสลับซับซ้อนทางวิชาการอย่างมาก ผมเองก็ยังอ่านไม่จบ และบางส่วนก็ยังอ่านไม่เข้าใจ แต่ข้อสรุปเบื้องต้น คือ

1.ดร.ซินแคลร์ยืนยันความเชื่อ ซึ่งพิสูจน์ได้จากงานวิจัยมากมายว่า Aging is a disease หรือความแก่ก็เป็นโรคชนิดหนึ่งที่สามารถหาหนทางรักษาได้ และกำลังมีการทำการวิจัย และมีบริษัทใหม่ตั้งขึ้นมามากมายเพื่อรักษาโรคแก่

2.ได้มีการกล่าวถึง แนวทางหลาย ๆ แนวทางที่เรียกว่า pathway to aging กล่าวคือ เมื่อรู้ว่าเซลล์มนุษย์แก่ตัวอย่างไรแล้ว จะมีวิธีการที่จะเข้าไปแทรกแซงเพื่อควบคุมความแก่ได้ เช่นเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า เมื่อจำกัดการบริโภคแคโลรี (caloric restriction) อายุจะยืนมากขึ้น และสุขภาพจะดีขึ้น ตัวอย่าง เช่น หากลดการบริโภคแคโลรีลงประมาณ 25% ต่อวัน ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรงและอายุยืนขึ้นอีก 25% เป็นต้น

แต่เป็นสิ่งที่น้อยคนจะทำได้ เพราะการที่รู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งที่ทรมานจิตใจอย่างมาก ทั้งนี้ ได้มีการให้รางวัลโนเบลในปี 2016 กับ ดร.โยชิโนริ โอซูมิ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบกระบวนการ และยีนส์ที่ควบคุมการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (autophagy) เมื่อต้องอดอาหาร ซึ่งการกลืนกินตัวเองของเซลล์นั้นก็คือ การยกเครื่องและซ่อมแซมตัวเองของเซลล์ ทำให้ร่างกายแข็งแรงและไม่แก่ตัว

3.ปัจจุบันได้มีการค้นพบสารเคมีที่ทำให้หนูสุขภาพแข็งแรง และอายุยืนได้บ่อยครั้งจนไม่เป็นข่าวอีกแล้ว และงานวิจัยที่ทำต่อเนื่องจาก resveratrol ก็พบว่า สารที่ช่วยการทำงานของเซลล์ที่สำคัญมาก คือ NAD+ และยังมีแนวทางสู่การทำให้เซลล์แข็งแรง หนุ่มแน่นอีกหลายแนวทาง ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสุขภาพของร่างกายตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถทำการรักษาโรคได้แบบตัดไฟแต่ต้นลม จนทำให้ ดร.ซินแคลร์ประเมินว่า ในอนาคตมนุษย์จะมีอายุเฉลี่ยอย่างต่ำ 113 ปี

แต่ที่สำคัญ คือ ข้อสรุปว่า “if even a few of the therapies and treatments that are most promising come to fruition, it is not an unreasonable expectation for anyone who is alive and healthy today to reach 100 in good health active an engaged at levels we”d expect of healthy 50-year-olds today”

แปลสรุป คือ แนวทางการรักษาและบำบัดปัจจุบันที่กำลังอยู่ในกระบวนการวิจัยและทดลองอยู่ในขณะนี้นั้น หากเพียงส่วนหนึ่งประสบความสำเร็จตามคาดก็จะทำให้คนที่ปัจจุบันสุขภาพดี จะสามารถสุขภาพดีและแข็งแรงไปจนอายุ 100 ปี และในวันนั้นก็จะยังมีสุขภาพดีและแข็งแรงเสมือนกับคนอายุ 50 ปีในวันนี้

ข้อสรุปของผม คือ จะต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง เพื่อรอให้คำทำนายของ ดร.ซินแคลร์เป็นความจริง (และหากไม่เป็นความจริงแล้วการมีชีวิตต่อไปก่อนก็คงจะไม่เสียหายอะไร)

2.อย่าอ้วน : เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ความอ้วนไม่ดีสำหรับร่างกาย แต่ของกินมีอยู่ทั่วไป มองไปที่ไหน เวลาใด ก็มีของกินมากมาย และผู้ขายทุกคนก็จะบอกว่า สินค้าของตัวเอง “ดีต่อสุขภาพ” แล้วเราก็อยากจะเชื่อ (เพราะอยากจะกิน) แต่ความจริง คือ องค์การอนามัยโลกประกาศกว่า 20 ปีที่แล้ว (1997) ว่า “โรคอ้วนเป็นโรคระบาดระดับโลก” แต่จำนวนคนที่น้ำหนักเกินก็ยังเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบันคนกว่า 1/3 บนโลกนี้น้ำหนักเกิน (overweight) และอีก 650 ล้านคน เป็นโรคอ้วน (obesity)

เพื่อเตือนใจเราทุกคน ผมขออ้างสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Health) ที่สรุปว่า ปัญหาสุขภาพที่เชื่อมโยงกับน้ำหนักตัวเกิน (overweight) และโรคอ้วน (obesity) รวมถึง

-โรคเบาหวาน

-ความดันโลหิตสูง

-โรคหัวใจและจังหวะ

-มะเร็งบางชนิด

-หยุดหายใจขณะหลับ

-โรคข้อเข่าเสื่อม

-โรคไขมันพอกตับ

-โรคไต

-โรคปัญหาการตั้งครรภ์

ผมได้เคยเขียนถึงผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อกรกฎาคม 2018 ที่เก็บข้อมูลการดำเนินชีวิตของบุคลากรด้านสาธารณสุขของสหรัฐ (ส่วนใหญ่คือหมอและพยาบาล) กว่า 1 แสนคน เป็นเวลากว่า 20 ปี และพบกฎ 5 ข้อ ที่ทำให้อายุยืนขึ้นไปอีก 12-14 ปี ซึ่งไม่ใช่กฎที่มีความสลับซับซ้อนแต่อย่างใด ที่สำคัญในความเห็นของผม คือ จะต้องไม่สูบบุหรี่ กินน้อย ให้รอบเอวไม่เกิน 0.5 ของส่วนสูง (0.4 สำหรับผู้หญิง) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับให้เพียงพอทุกคืน (7-8 ชั่วโมง)

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจที่กล่าวถึงในบทวิจัยดังกล่าว คือ การมีไลฟ์สไตล์ที่ดีตามกฎ 5 ข้อนั้น ปรากฏว่าคนอเมริกันทำกันเกือบจะไม่ได้ กล่าวคือจากการสำรวจพบว่า ชาวอเมริกันที่มีไลฟ์สไตล์ที่ดี (ทำตามกฎ 5 ข้อ) ลดลงใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จาก 15% ในช่วงสำรวจปี 1988-1992 เหลือเพียง 8% ในปี 2000-2006 “เพราะการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วน” แปลว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ 92% มีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับสุขภาพ เพราะการกินอาหารมากเกินจนทำให้น้ำหนักเกิน หรืออ้วนนั่นเอง

ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวเพื่อการมีสุขภาพที่ดีนั้น ทาง Fit Talk ได้ให้โอกาสผมไปนำเสนอในวันงาน Fit Talk วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายนนี้ หากมีเวลาว่างก็ขอเชิญให้ไปฟังครับ และผมเข้าใจว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการฟิตร่างกายมาให้ความรู้อีกหลาย ๆ คนครับ