ปีชวดต้องไม่ชวดภาษี

แฟ้มภาพ

คอลัมน์สามัญสำนึก : พิเชษฐ์ ณ นคร

ดูตามไทม์ไลน์แผนดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 14 ขั้นตอน ที่กระทรวงมหาดไทย ต้นสังกัดสั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สั่งการให้หน่วยงานท้องถิ่น 7,776 แห่ง ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง ดำเนินการ ตั้งแต่ก่อนที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้เมื่อ 13 มี.ค. 2562 เหลืออีกเพียง 3 ภารกิจ จากทั้งหมด 14 ภารกิจ ที่ท้องถิ่นทั่วประเทศต้องดำเนินการต่อเนื่อง รับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครั้งแรก แทนภาษีโรงเรือน กับภาษีบำรุงท้องที่ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป

โดยภารกิจที่ต้องทำต่อประกอบด้วย การประกาศราคาประเมิน อัตราภาษีที่จะจัดเก็บ ซึ่งจะเริ่มในเดือน ธ.ค. 2562 จนถึงเดือน ม.ค. 2563 โดยจะปิดประกาศในที่ทำการ อปท.ทั้งกว่า 7.7 พันแห่ง ก่อนทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภายในเดือน ก.พ. 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้โต้แย้ง อุทธรณ์การประเมินภาษี จากนั้นจะเปิดให้ผู้อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี ยื่นชำระภาษีภายในเดือน เม.ย. 2563

ขอย้ำว่าผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี มีเวลายื่นชำระภาษีกับ อปท.รวม 30 วัน ภายในเดือน เม.ย. 2563 เท่านั้น ยกเว้นกรณีได้รับการผ่อนผัน หรือมีเหตุจำเป็น สาเหตุที่ต้องจ่ายภาษีตั้งแต่ต้นปี เป็นเพราะภาษีที่ดินฯเป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้า ลักษณะเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่จะถูกยกเลิกไป

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดแปลงที่ดิน อาทิ รูปแปลงที่ดิน จำนวนเนื้อที่ สภาพที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดิน การใช้ประโยชน์ ฯลฯ ขณะนี้อยู่ในมือเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ของ อปท.แต่ละแห่งหมดแล้ว ส่วนหนึ่งได้มาจากฐานข้อมูลเดิมที่ใช้จัดเก็บภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่

ขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ และบัญชีประเมินราคาห้องชุดในอาคารชุดของกรมธนารักษ์ และข้อมูลสารบบที่ดินของกรมที่ดิน บวกกับข้อมูลอีกส่วนที่สำรวจเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด เท่ากับเวลานี้ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิทั่วประเทศกว่า 37 ล้านฉบับ (ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2560) แยกเป็น โฉนด 32 ล้านฉบับ เนื้อที่ 103 ล้านไร่เศษ น.ส.3 ก. 3 ล้านฉบับ เนื้อที่ 14 ล้านไร่ น.ส.3 1 ล้านฉบับ เนื้อที่ 9 ล้านไร่ และใบจอง 1.53 แสนฉบับ เนื้อที่ 1.3 ล้านไร่ อยู่ในมือ อปท.เกือบทั้งหมดแล้ว

ราคาประเมินทุนทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้ท้องถิ่นมีบัญชีราคาประเมินที่ดิน ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง และราคาประเมินห้องชุด ในมือพร้อม ส่วนที่กรมธนารักษ์ประกาศว่า ปี 2563 จะยังใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ฉบับเดิม ซึ่งประกาศใช้ในรอบปี 2558-2562 ต่อไปอีก 1 ปี แม้จะช่วยผ่อนภาระผู้เสียภาษีได้บ้าง เนื่องจากฐานภาษีสำหรับใช้ในการคำนวณภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินเดิม ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน อย่างน้อยก็ต่ำกว่าราคาประเมินที่จะจัดทำขึ้นใหม่ ไม่ต้องเจอแจ็กพอต 2 ต่อ ทั้งภาษีใหม่ และราคาประเมินใหม่ ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯเป็นไปตามเป้า ให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.4 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และให้การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ปีแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คล่องตัว เกิดปัญหาในทางปฏิบัติน้อยที่สุด ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมเศรษฐกิจการคลัง กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน ได้แท็กทีมเดินสายติวเข้มเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทั้ง 7,776 แห่งเต็มที่


ที่ผ่านมาจัดคอร์สฝึกอบรมรวมแล้ว 33 ครั้ง ครั้งละ 470 คน เบ็ดเสร็จมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นฝึกอบรมกว่า 5 แสนคน พร้อมจัดทำคู่มือ แนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษี ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด ปีชวดจะได้ไม่ชวดภาษี มีเงินพัฒนาท้องถิ่นเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น