‘สุวิทย์’ จับมือ 11 บริษัทยักษ์ ดึงไมโครซอฟท์-หัวเว่ย ปั้นแรงงาน-นักวิจัย

184 วัน คือ อายุของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 120 วัน คือ วาระการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการคนแรกของกระทรวงแห่งใหม่ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” ใช้ต้นทุนอดีตนักวิชาการ ถอดสลักภารกิจพัฒนาแรงงาน-ปฏิวัติงานวิจัย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดร.สุวิทย์” สดใหม่หลังเจรจา 11 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ดึงไมโครซอฟท์และหัวเว่ยร่วมทีมไทยแลนด์

อัพเกรดแรงงาน 38 ล้านคน

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อยลง นโยบายใหม่ของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คือ กลุ่มที่อยู่ในตลาดแรงงาน 38 ล้านคน กลุ่มนี้หลังจากจบการศึกษามาแล้ว 5 ปี หรืออายุระหว่าง 20-60 ปี ไม่มีใครดูแล และความรู้ที่มีอาจจะเก่าเก็บเพราะถูก disruption เราได้ประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยและธุรกิจเอกชนเพื่อหาทางเพิ่มทักษะเก่า-ต่อยอดทักษะใหม่ reskill-upskill

“คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองวุฒิ (nondegree) ไม่ต้องต่อปริญญาโท ปริญญาเอก ถ้าขาดทักษะด้านใดก็พัฒนาด้านนั้น และเมื่อผ่านการฝึกอบรมหลาย ๆ สาขา สามารถสะสมไปออกใบรับรองวุฒิได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนหรืออบรมในมหาวิทยาลัยแห่งเดียว แต่เรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้”

“เพราะฉะนั้น ในอนาคตการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยน เน้นประสบการณ์ เน้นการตอบโจทย์ เน้นทักษะที่จำเป็นจริง ๆ ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวด้วย”

ดึงมหา’ลัยชั้นนำจับมือ 11 ยักษ์ธุรกิจ

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า การพัฒนาคนในระยะต่อไป กลุ่มแรก ระดับนักศึกษา มหาวิทยาลัยทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกับเอกชน โดยเริ่มจาก 11 รายใหญ่ก่อน ได้แก่ ปูนซิเมนต์ไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัทโตโยต้า, กลุ่มสหพัฒนพิบูล, บริษัทเบทาโกร, ธนาคารกสิกรไทย, ไทยพาณิชย์, กลุ่มบางจาก, มิตรผล, บริษัทเอไอเอส และกลุ่มไทยเบฟ รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ demand ของเอกชนว่าต้องการคนประเภทไหน อย่างไร มหาวิทยาลัยจะเข้าไปจัดโปรแกรมการเรียน-การสอน

กลุ่มที่สอง คือ แรงงานก่อนสูงวัย (preageing) คือ อายุตั้งแต่ 40-45 ปีขึ้นไป ตั้งใจพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของคนสูงวัยเป็น smart ageing เรียนรู้เพื่อให้มีอาชีพในช่วงหลังอายุ 60 ปี กลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยที่จะยกระดับตรงนี้ ซึ่งกระทรวงต้องเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญ

จับมือหัวเว่ย-ไมโครซอฟท์ ปั้นนักวิจัยไทย

นายสุวิทย์กล่าวว่า การพัฒนาแรงงานทั้งสองกลุ่ม โดยกระทรวง อว.จะร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปเมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา พบกับผู้บริหารไมโครซอฟท์ จะจัดทำการฝึกอบรมแบบ nondegree ให้กับคนที่ทำงานและเรียนเพื่ออัพเกรดและพัฒนาเพิ่มทักษะตัวเอง และจับมือกับบริษัทหัวเว่ย ผ่านลงนามเอ็มโอยูกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เพื่อสร้างกลุ่มสตาร์ตอัพร่วมกับอีก 3 มหาวิทยาลัย

นายสุวิทย์กล่าวว่า จะมีการเจรจาดึงนักวิจัยจากบริษัทหัวเว่ย ประมาณ 100 คน มาแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยไทย โดยใช้ EECi ของ อว.ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งมีสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology) อยู่แล้ว

ทุ่ม 2.5 หมื่นล้านแก้วิจัยเบี้ยหัวแตก

นายสุวิทย์กล่าวว่า งบประมาณสำหรับการทำวิจัยปีละ 25,000 ล้านบาท ปัจจุบันเป็นเบี้ยหัวแตกกระจาย จากนี้ไปจะจัดสรรใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ 4 เรื่อง ได้แก่ การสร้างคน เพิ่มขีดความสามารถ ความเหลื่อมล้ำ และประเด็นความท้าทาย เช่น งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5, การออกแบบให้ชีวิตสังคมสูงวัย

“จะนำงบฯส่วนนี้ไปร่วมกับเอกชนเพื่อทำวิจัย เราตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้าเงินวิจัยนจะต้องเพิ่มเป็น 1.5% ต่อ GDP หรือ 2 แสนล้านบาท ให้เอกชนลงขันเพิ่ม 75%”  

นายสุวิทย์ กล่าวว่า งบฯการทำวิจัยจะแบ่งเกรดมหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยราชภัฏ โจทย์ คือ การวิจัยเพื่อแก้ความยากจน 2.มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า 3 แห่ง และสถาบันราชมงคล โจทย์ คือ การวิจัยเพื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3.มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ โจทย์ คือ การวิจัยเพื่อสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลง

คนรุ่นใหม่จะไม่บ้าปริญญา

นายสุวิทย์กล่าวว่า การประเมิน KPI ของสถาบันอุดมศึกษาในระยะต่อไป คือ “ทำอย่างไรให้คนที่กำลังจะถูก disrupt มีงานทำ ให้บัณฑิตมีคุณภาพ จากนี้ไปปริญญาไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสมรรถนะเป็นเรื่องสำคัญ เด็กรุ่นใหม่จะไม่บ้าปริญญา มหาวิทยาลัยต้องตอบโจทย์ใหม่ มหาวิทยาลัยต้องมีแพลตฟอร์ม ขาดเหลืออะไรต้องมาที่นี่ หรือเป็นแพลตฟอร์มให้คนมาทำงานร่วมกัน จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ” 

นายสุวิทย์กล่าวว่า เพราะฉะนั้น 1.นำการฝึกอบรม-การศึกษาวิชาที่สำคัญต่อการทำงานที่ไม่ต้องการใบรับรองวุฒิ หรือ nondegree แก้ปัญหาตกงานเพราะหลักสูตรปกติอาจไม่ตอบโจทย์ 2.นำอาสาประชารัฐเข้ามาเพื่อให้เด็กมีโอกาสได้ฝึกงาน เพื่อให้ค้นหาตัวเอง ไม่ใช่เรียน 4 ปีจบมาแล้วตกงาน 3.มี coworking space และ colearning space และ coleaving space ของคนสูงวัย

โดยกระทรวง อว.จะร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดงานไทยแลนด์ จ๊อบ แฟร์ ขึ้นมาเพื่อสร้างการรับรู้และความตื่นตัวให้กับเยาวชนที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนความคิดไม่ใช่แค่เรียนจบเท่านั้น แต่จะช่วยให้เยาวชนเหล่านี้รับรู้ถึงความต้องการของบริษัทเอกชน หรือตลาดแรงงานที่มีอยู่ว่าต้องการรับคนทำงานมีทักษะหรือการเรียนรู้ส่วนใดบ้าง ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อไม่ให้เยาวชนที่เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ หรืออาจทำงานไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนจบมา

“งานนี้จะกระจายทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กมหาวิทยาลัยปีที่ 2-3 เพื่อพิจารณาว่าอนาคตอยากเป็นอะไร งานและทักษะสำหรับอนาคตคืออะไร และกลุ่มนักศึกษาปีที่ 4 จะมีโอกาสจับมือเจรจากับผู้ว่าจ้าง และเปิดโอกาสให้คนที่มีงานทำอยู่แล้วแต่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่ม และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ปกครองนักเรียนมัธยมปลาย เข้าร่วมในงานนี้เพื่อทุกคนจะมีตัวเลือกที่ตอบโจทย์การทำงานในอนาคต”  

“อนาคตการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผลิตบัณฑิตออกมาในตลาดแรงงาน แต่จะปรับเปลี่ยนเพื่อเน้นประสบการณ์และตอบโจทย์กับทักษะที่มีความจำเป็นจริง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีทักษะเพิ่มเติมไว้ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ถือเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนต้องทำงานร่วมกันเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างตรงจุด”


ขณะเดียวกัน ภายหลังจากการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงจะร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทขนาดใหญ่ จัดทำแพ็กเกจที่เป็นรูปแบบของหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้กับประชาชน จะให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมเรียนรู้ตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจะประกาศออกมา สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.แล้ว ซึ่งจะเป็นมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงานโดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็นแอดวานซ์เทคโนโลยี ไปหักค่า
ใช้จ่ายได้ 250% ระหว่างปี’62-63