‘รัฐ-เอกชน’ ท่องเที่ยว (ต้อง) คิดใหม่ ทำใหม่

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ปี 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นปีนี้ถือว่าเป็นปีที่วงการทัวร์เอาต์บาวนด์ หรือทัวร์คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ (ขาออก) คึกคักสุด ๆ เพราะได้อานิสงส์จาก “ค่าเงินบาท” ที่แข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

ว่ากันว่า ในปีนี้จำนวนคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศน่าจะพุ่งทะลุไปถึง 11 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 10%
หากดูตามแนวโน้มปีนี้น่าจะเป็นปีที่กลุ่มบริษัททัวร์ที่ทำตลาดเอาต์บาวนด์ “อยู่ดี กินดี มีสุข” กันถ้วนหน้า

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและในตอนนี้คือ บริษัททัวร์ทั้งที่เป็นเอเย่นต์ทัวร์และโฮลเซลขายแพ็กเกจทัวร์เกิดภาวะ “ชอร์ต” ขาดสภาพคล่อง “ลอยแพ” นักท่องเที่ยวและเอเย่นต์ทัวร์ด้วยกันเอง จนเกิดเป็นปัญหาและส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งระบบ

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่บริษัททัวร์ “อีแอลซี” ขายทัวร์ล่วงหน้า เอาเงินนักท่องเที่ยวมาหมุนก่อนเป็นปี สุดท้ายไม่ได้เดินทางเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา และล่าสุดกรณีของ “เฟสติวัล ฮอลิเดย์” โฮลเซลรายใหญ่ที่ชักดาบและลอยแพเอเย่นต์ทัวร์ถึง 60-70 บริษัท

กรณีนี้ทำเอา “เอเย่นต์ทัวร์” ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก เจ็บตัวกันระเนระนาด เรียกว่า ใครขายได้เยอะ ก็เจ็บหนักหน่อย

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับวงการท่องเที่ยวของไทย ?

ทัวร์ขายดี คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ทำไมผู้ประกอบการกลับ “ขาดสภาพคล่อง” กระทั่งยอมหักหลังคนในวงการเดียวกันแบบนี้

จากการติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของวงการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งได้พูดคุยกับคนในแวดวงท่องเที่ยว
บางส่วนของผู้เขียน พบว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเกิดจาก 2 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรกคือ เรื่องกฎ ระเบียบของหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวงเงินวางหลักประกันของผู้ประกอบการแต่ละประเภทที่ต่ำมาก

โดยอัตราการวางเงินหลักประกันในวันนี้ยังเป็นอัตราเดียวกับเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา คือวางเงินหลักประกันในอัตรา 2 แสนบาท สำหรับผู้ประกอบการเอาต์บาวนด์

เงินจำนวนนี้หากมองในมุมของการประกอบธุรกิจถือว่า “ต่ำมาก” เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ซึ่งหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลควรปรับขึ้นให้สูงขึ้นได้แล้ว เพราะเงิน 2 แสนบาทไม่สามารถชดเชยความเสียหายอะไรได้เลย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการที่คิดจะ “โกง” ตัดสินใจทิ้งเงินจำนวนนี้ได้ง่ายมาก ๆ

พูดง่าย ๆ คือ ใครอยากทำธุรกิจทัวร์เอาต์บาวนด์มาจดทะเบียน วางเงินหลักประกัน 2 แสนบาทก็ทำธุรกิจได้ สมมุติว่าเปิดขายทัวร์ออนไลน์ไปยุโรปได้สัก 1,000 แพ็กเกจ แพ็กเกจละ 50,000 บาท ใช้เวลาแป๊บเดียวเก็บเงินได้ 50 ล้านบาท ถ้าคิดลอยแพนักท่องเที่ยวก็หายตัวไปเฉย ๆ รัฐทำได้เพียงริบเงินหลักประกัน 2 แสนบาทเท่านั้น

หรือกรณีล่าสุดที่โฮลเซลรายใหญ่ชักดาบเอเย่นต์ทัวร์มูลค่าความเสียหายร่วม 100 ล้านบาท ผลสุดท้ายทั้งหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลและเอเย่นต์ทัวร์ก็จัดการไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ครอบคลุมการทำธุรกิจในประเภทของโฮลเซล

ไม่เพียงเท่านี้ บทลงโทษตามกฎ กติกาของหน่วยงานรัฐที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือกำกับดูแลอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2559 (ฉบับแก้ไข) ระบุไว้ว่า ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจัดบริการนำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวโดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ หรือเก็บค่าบริการในอัตราที่เห็นได้ว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย (ขายต่ำกว่าทุน)

จนถึงขณะนี้รัฐก็ยังไม่ได้กำหนดอัตราขั้นต่ำออกมา ทำให้ไม่มีเครื่องมือที่จะมาจัดการกับบรรดาพวกที่ขายทัวร์กันราคาถูกแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดินเกลื่อนตลาดอยู่ในขณะนี้ได้

หรือในประเด็นที่ระบุว่า ผู้ประกอบการที่ทำให้อุตสาหกรรมเกิดความเสียหายมีโทษปรับ 5 แสนบาทก็ยังไม่เคยถูกนำมาจัดการกับใคร ทั้ง ๆ ที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ผู้ประกอบการเกือบทุกรายแข่งขันด้านราคากันอย่างดุเดือด กระทั่งมาตรฐานราคาขายในตลาดไม่มี ภาพรวมอุตสาหกรรมกำลังจะสำลักเลือดตายกันทั้งระบบ

และประเด็นปัญหาที่ 2 คือ เรื่องของจิตสำนึกของผู้ประกอบการ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะหากทุกคนไม่มองเรื่องการแข่งขันเป็นที่ตั้ง ไม่มุ่งขายแต่ “ของถูก” คำนึงถึงสังคมส่วนรวมและเพื่อนร่วมอาชีพบ้าง ก็น่าจะทำให้ภาพรวมธุรกิจขับเคลื่อนและเดินไปพร้อมกันได้ รวมทั้งยังช่วยรักษามาตรฐานการให้บริการและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวของประเทศด้วย


ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายระลอกในปีนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการหยุดคิดและหันกลับมามองคนข้างหลังและคนรอบข้างสักนิดว่า เพื่อนร่วมอาชีพของเราอยู่ดี กินดี มีสุขเหมือนเราหรือไม่ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเองก็ควรต้องปรับกฎ กติกาให้สอดรับกับยุคสมัย คุมเข้มด้านคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงเพิ่มบทลงโทษอย่างเข้มข้นและจริงจังสักที ไม่ใช่มานั่งหาทางแก้ไขหลังจากที่เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา…