โอกาสท่ามกลางความเสี่ยงปี’63

บทบรรณาธิการ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 6 พ.ย. 2562 ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.50% เหลือ 1.25% ต่อปี ต่ำสุดนับแต่วิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือวิกฤตซับไพรม ปี 2552 ถือเป็นการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพื่อหนุนเศรษฐกิจประเทศในภาพรวมที่ยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพให้พ้นจากภาวะซึมยาว

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ออกประกาศผ่อนเกณฑ์การควบคุมเงินทุนไหลออก โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 8 พ.ย. รวม 4 มาตรการ 1.การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ 2.การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 3.การโอนเงินออกนอกประเทศ และ 4.การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

เป้าหมายหลักเพื่อช่วยปรับสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย ลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท และเปิดทางให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น จากปัจจุบันความไม่สมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายกดดันให้เงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซ้ำเติมปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสงครามทางการค้า

แม้ไม่อาจคาดหวังได้ว่ามาตรการดังกล่าวจะแก้ปัญหาค่าบาทแข็งให้เห็นผลทันที แต่ในระยะยาวการผ่อนกฎด้วยการเปิดช่องยกเว้นให้ผู้ส่งออกไม่ต้องนำรายได้กลับเข้าประเทศ ให้รายย่อยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เปิดเสรีโอนเงินออกนอกประเทศ และให้ซื้อทองคำด้วยสกุลเงินต่างประเทศ จะช่วยสร้างความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น

เป็นการดำเนินนโยบายท่ามกลางความเสี่ยงภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยลบภายในประเทศหลากหลายเรื่องที่ยังอ่อนไหวเปราะบาง อย่างหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงเกือบ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากปลายปี 2561 อยู่ที่ 78%

ขณะที่การบริโภคและการลงทุนยังชะลอตัวไม่ฟื้น ที่น่าห่วงและต้องจับตาคือผลกระทบจากการเลิกจ้าง ลดเวลาทำงานของภาคอุตสาหกรรมที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ผลพวงจากภาคการส่งออกมีปัญหา ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามทางการค้า เงินบาทแข็งค่า ส่วนภาคท่องเที่ยวแม้ยังเติบโตแต่ชะลอตัวลง

ปี 2563 จึงเป็นอีกปีหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจการเมืองที่ยังรายล้อม โจทย์ใหญ่อยู่ที่ทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับบุคคล องค์กร จนถึงระดับชาติจะแปรวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไร จะใช้จุดแข็งของอาเซียน และอาร์เซ็ปที่หลายกลุ่มประเทศ หลายเขตเศรษฐกิจอยากเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงได้มากน้อยแค่ไหน ภาครัฐ เอกชน ประชาชนจึงต้องรวมเป็นหนึ่ง พลิกสถานการณ์ลบเป็นบวกหนุนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง