เศรษฐกิจติดดิน ภาวะทำกินของคนทำงานอิสระ

คอลัมน์ ร่วมด้วยช่วยกัน
โดย ดร.จิตเกษม พรประพันธ์, ศวพล หิรัญเตียรณกุล ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.

ในบทความนี้ แบงก์ชาติขอเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงรายได้ ความเป็นอยู่ของคนตัวเล็กซึ่งมีมากถึง 8-9 ล้านคน โดยใช้ข้อมูลจุลภาคของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อประกอบการติดตามภาวะเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ไทยกำลังเผชิญอยู่

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยในตัวเลขเศรษฐกิจไหม ? เศรษฐกิจยังขยายตัว แต่ท่านกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น และไม่แน่ใจว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่พูดกันจะสะท้อนความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศได้ คำถามนี้มีที่มาที่ไปจากการที่ธุรกิจรายใหญ่มีบทบาทมากในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศจึงขึ้นกับสถานะของธุรกิจเหล่านี้เป็นสำคัญ

จนทำให้หลายครั้งที่ตัวเลขภาพรวมเติบโตดีตามผลกำไรของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ไม่สอดคล้องกับภาวะรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่มีความสามารถในการปรับตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจได้มากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs รวมถึงพ่อค้าแม่ขายรายย่อย จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะสะท้อนการเติบโตของผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการติดตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคผ่านตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมไปพร้อม ๆ กันกับภาวะเศรษฐกิจของชาวบ้านทั่วไปผ่านมุมมองข้อมูลจุลภาค เพื่อให้การดำเนินนโยบายติดดิน เข้าถึงและเข้าใจภาวะทำกินของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในบทความนี้ผู้เขียนใคร่ขอแนะนำข้อมูลระดับจุลภาค คือ การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน จัดทำ

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจไทยว่ากลุ่มคนสำคัญ คือ คนทำงานอิสระนอกภาคเกษตร ซึ่งมีจำนวนเกือบ 1 ใน 4 ของคนทำงานทั้งหมดประมาณ 38 ล้านคน โดยคนทำงานอิสระในที่นี้ ครอบคลุมผู้จ้างงานตนเองโดยไม่มีลูกจ้าง ผู้ทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ คือ SMEs และ micro businessที่เป็นพ่อค้าแม่ขายรายย่อยที่เรารู้จักกันดี ซึ่งมีทั้ง upper และ lower skilled ทั้งการเปิดร้านขายของ การขายอาหารตามแผงลอย การขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง ไปจนถึงกลุ่ม sharing economy อาทิ คนขับ Grab เจ้าของบ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวพักอาศัยผ่าน Airbnb แม่ค้าขายของออนไลน์ หรือคนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อิสระ เป็นต้น

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ เราจะติดตามภาวะเศรษฐกิจของคนจำนวนมากขนาดนี้ได้อย่างไร ? ในเมื่อการสำรวจรายได้ของคนกลุ่มนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังไม่สามารถติดตามภาวะของคนทำงานอิสระเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ กรณีของประเทศไทยถึงจะมีการรายงานรายได้ในแบบสำรวจข้างต้นซึ่งจัดทำทุก ๆ 2 ปี ก็ไม่สามารถติดตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้เช่นกัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดของข้อมูลดังกล่าว และเพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคสามารถมีเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที งานศึกษาของ ศวพล หิรัญเตียรณกุล (2562) ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติประกอบกับความทันสมัยของเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) เพื่อสร้างเครื่องชี้ภาวะรายได้ของคนทำงานอิสระผ่านการใช้ข้อมูลรายได้ที่มีความถี่รายเดือนของกลุ่มคนอื่น ๆ ในเศรษฐกิจ คือ ลูกจ้างประจำรายเดือน ลูกจ้างชั่วคราวรายสัปดาห์ รายวันหรือรายชั่วโมง และเกษตรกร

ท่านผู้อ่านครับ การศึกษานี้อยู่บนพื้นฐานที่ว่า คนทำงานอิสระกลุ่มนี้มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการให้แก่คนกลุ่มอื่น ๆ ทั้ง 1) พนักงานกินเงินเดือน 2) ลูกจ้างชั่วคราว รวมถึง 3) เกษตรกร ดังนั้น หากเราสามารถติดตามภาวะรายได้ของลูกจ้างและเกษตรกรได้ก็ย่อมประเมินรายได้ของคนทำงานอิสระได้ด้วย รายได้ของคนทั้ง 3 กลุ่ม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถติดตามภาวะรายได้ของคนทำงานอิสระได้โดยปริยาย โดยเปรียบเทียบแล้ว ลูกจ้างไม่ประจำและเกษตรกรมีอิทธิพลต่อรายได้ของคนทำงานอิสระมากกว่าพนักงานกินเงินเดือน โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งกลุ่มลูกจ้างไม่ประจำและเกษตรกรเป็นลูกค้าสำคัญของคนทำงานอิสระ โดยกลุ่มลูกจ้างและเกษตรกรมักได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มพนักงานประจำ จึงส่งผ่านผลลบไปสู่คนทำงานอิสระได้มากกว่า

จึงกล่าวได้ว่า เมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะทำกินของคนทำงานอิสระกับรายได้ลูกจ้างและเกษตรกรจะขึ้นกับ 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก โครงสร้างการกระจุกตัวของกำลังแรงงาน แม้ในภาคเดียวกันเอง แต่ละจังหวัดก็มีความแตกต่างกัน โดยกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองหลักต่าง ๆ นั้นมีสัดส่วนมนุษย์เงินเดือนค่อนข้างสูง ส่วนจังหวัดในลุ่มน้ำภาคกลาง รวมทั้งพื้นที่ภาคเหนือและอีสานจะมีเกษตรกรกระจุกตัวอยู่มาก ในขณะที่บางจังหวัดก็มีลูกจ้างไม่ประจำค่อนข้างมาก ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงที่แตกต่างกันระหว่างรายได้ของกลุ่มคนต่าง ๆ

ปัจจัยที่สอง ความผันผวนของรายได้ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กลุ่มเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ในปีที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย รายได้ของเกษตรกรจำนวนมากอาจหายไปได้ในฉับพลันหากเกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง จึงมีความไม่แน่นอนสูงกว่ารายได้ของกลุ่มลูกจ้างและพนักงาน นอกจากนี้ แม้ในกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน ก็มีความผันผวนในรายได้ที่แตกต่างกันได้ เช่น เกษตรกรผู้เพาะปลูกในเขตชลประทานมักจะมีความมั่นคงทางรายได้มากกว่าเกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพราะเกษตรกรในเขตชลประทานสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ง่าย จึงมีความเสี่ยงต่ำกว่าที่จะเผชิญกับปัญหาฝนทิ้งช่วงที่นำไปสู่การมีต้นทุนน้ำสะสมไม่เพียงพอ เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ชาวนาภาคกลางมีความมั่นคงทางรายได้มากกว่าภาคเหนือหรือภาคอีสาน เนื่องจากเข้าถึงระบบชลประทานได้ดีกว่า

ในภาพรวมแล้ว การส่งผ่านรายได้จากคนกลุ่มต่าง ๆ ไปยังคนทำงานอิสระในแต่ละจังหวัดมีความหลากหลาย ในภาคกลางนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่คนทำงานอิสระเผชิญนั้นจะขึ้นกับกลุ่มลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างไม่ประจำเป็นหลัก ตามปัจจัยด้านโครงสร้างที่มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ในส่วนของภาคเหนือและภาคอีสาน ภาวะรายได้เกษตรกร คือ ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผ่านไปยังคนทำงานอิสระ โดยบางจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น กาฬสินธุ์และสกลนคร จะมีกลุ่มลูกจ้างไม่ประจำเป็นกำลังซื้อสำคัญของคนทำงานอิสระในพื้นที่ ตามปัจจัยการกระจุกตัวที่มีคนกลุ่มนี้อยู่มาก สำหรับภาคใต้ที่มีอุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นหลักนั้น กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มลูกจ้างไม่ประจำ เช่น คนรับจ้างกรีดยางพารารายวัน จึงเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจในพื้นที่

สรุปแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียวไม่เพียงพอที่ใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีความหลากหลายในเชิงโครงสร้าง ปัญหาและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่และกิจกรรม ตลอดจนมีคนทำงานอิสระรายเล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญ

ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินในยุคใหม่จึงให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจปัจจัยเชิงโครงสร้าง เพื่อให้สามารถพัฒนาเครื่องชี้ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถจับชีพจรเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำ ให้แน่ใจว่าการดำเนินนโยบายอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้าน และสามารถดูแลความเป็นอยู่ของคนไทยได้อย่างยั่งยืน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย