เดิมพันในวิกฤต ของอาลีบาบาที่ฮ่องกง

REUTERS/Jason Lee/File Photo
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

เมื่อ แดเนียล จาง ประธานกลุ่มอาลีบาบา ประกาศเริ่มต้นกระบวนการจดทะเบียนบริษัทยักษ์ใหญ่ในแวดวงอีคอมเมิร์ซของโลกรายนี้ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็มีคำถามและข้อสังเกตตามมามากมายไม่น้อย

คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจทุกคนก็คือ ทำไมต้องเป็นช่วงเวลานี้ ช่วงเวลาที่ไม่เพียงแต่การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงยังยืดเยื้อไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลงเท่านั้น ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

ล่าสุด กองกำลังของกองทัพประชาชนจีน จำเป็นต้องออกมาประจำการตามท้องถนน เพื่อกดดันและปรามผู้ประท้วงไม่ให้เหตุรุนแรงขยายวงออกไปมากกว่าการสูญเสียคนไปอย่างน้อย 2 คนเพราะเหตุประท้วงครั้งนี้

อาลีบาบา เอาอะไรมาแน่ใจว่า อนาคตของฮ่องกงจะสดใส ทุกอย่างจะยังคงเป็นไปได้เหมือนเดิมเหมือนที่ผ่านมา ?

นั่นทำให้นักสังเกตการณ์บางรายตั้งสมมุติฐานขึ้นมาว่า หรือเป็นไปได้ที่เรื่องนี้จะเป็น “การเมือง” มากกว่า “กลยุทธ์ทางธุรกิจ” ?

แต่ในเวลาเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกบางรายก็เชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้สามารถส่งผลดีต่ออาลีบาบาได้ในหลายทางด้วยกัน ภายใต้สภาวการณ์ของโลกโดยรวมที่ยังคงวางอยู่บนพื้นฐานของ “ความไม่แน่นอน” อยู่ต่อไปทั้งเทรดวอร์ และเบร็กซิต

ในแง่นี้ การจดทะเบียนให้สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ที่ฮ่องกงได้เป็นตลาดที่ 2 ต่อจากนิวยอร์ก สามารถทำหน้าที่เหมือน “เอสเคป วาล์ว” สำหรับอาลีบาบา ถ้าหากไม่สามารถซื้อขายในตลาดนิวยอร์กได้ ในกรณีที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เลวร้ายลงถึงขีดสุด นั่นคือข้อสังเกตของทราวิส ลุนดี นักวิเคราะห์ของควิดดิตี แอดไวเซอร์

คงไม่มีใครลืมว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยถึงกับปรารภว่าน่าจะหาหนทางบังคับปลดอาลีบาบาให้พ้นจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กด้วยซ้ำไป

ที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือ การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากผ่าน “วันคนโสด” วันที่ 11 เดือน 11 ในปีนี้ ซึ่งเป็นวันทำยอดขายถล่มทลายมาโดยตลอด แต่ยอดขายในปีนี้กลับสะท้อนสภาพอีคอมเมิร์ซในจีนได้เป็นอย่างดีว่ากำลังชะลอลงอย่างเห็นได้ชัดเจน อัตราการขยายตัวของยอดขายในวันคนโสดของอาลีบาบาในปีนี้ ถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่มี “วันคนโสด” นับตั้งแต่ปี 2009 เรื่อยมา

ในอีกแง่หนึ่ง การหันมาระดมทุนจากตลาดฮ่องกง น่าจะผลักดันราคาหุ้นที่ซื้อขายกันให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ขณะนี้ ทั้ง ๆ ที่มีกำไรจากการประกอบการสูงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ และรายได้รวมมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เหนือกว่าและเป็นที่อิจฉาของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซทุกรายในโลก รวมทั้งอเมซอน

แต่หุ้นของอาลีบาบาซื้อขายกันอยู่ที่ระดับ 25 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ได้จากการประมาณการเท่านั้น เทียบกับอเมซอนซึ่งอยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์แล้วยังห่างกันสุดกู่ ทั้ง ๆ ที่อเมซอนมีกำไรจากการประกอบการเพียง 4.5 เปอร์เซ็นต์และรายได้ขยายตัวอยู่ที่เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น

อาลีบาบาคาดหวังอย่างมากต่อนักลงทุนรายย่อยทั้งหลายในแผ่นดินใหญ่ที่ข้ามแดนเข้ามาลงทุนอยู่ในตลาดใกล้บ้าน แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักดีถึงความจำเป็นต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมที่เปิดกว้างเพื่อการระดมทุนจาก “ขาใหญ่”ทั้งหลายในระดับสากล ซึ่งทำให้ฮ่องกงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่าเซี่ยงไฮ้ หรือเสิ่นเจิ้น ที่ดูเหมือนจะ “เล็กไปแล้ว” สำหรับอาลีบาบา

อาลีบาบาตั้งเป้าการระดมทุนครั้งใหม่นี้เอาไว้ที่ 13,400 ล้านดอลลาร์ สร้างสถิติ “ครอสบอร์เดอร์ลิสติ้ง” ของโลกขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยทำ “ไอพีโอ” สูงที่สุดในโลกไว้ที่นิวยอร์กเมื่อปี 2014 โดยราคาต่อหุ้นสูงสุดจำกัดอยู่ที่ 88 เหรียญฮ่องกง หรือราว 340 บาท

อาลีบาบามีเงินสดอยู่ในมือในเวลานี้มากถึง 33,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าทำได้ตามเป้ายอดเงินสดรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเหนือคู่แข่งสำคัญอย่างอเมซอน ซึ่งมีอยู่ในเวลานี้ 43,000 ล้านดอลลาร์ได้แน่นอน

ด้วยกระสุนในมือที่เพิ่มมากขึ้น อาลีบาบาหวังจะขยายศักยภาพของตนเองออกไปจากธุรกิจหลักในเวลานี้ สู่ธุรกิจคลาวด์, ธุรกิจบันเทิง (สตรีมมิ่ง)และแมชีน เลิร์นนิ่ง กับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ให้มากขึ้นและทรงประสิทธิภาพมากขึ้น

กระนั้น ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของอาลีบาบา ก็ยังสะท้อนกลิ่นอายการเมืองออกมาเต็มที่เช่นเดียวกัน

มาร์ค แนทกิน กรรมการผู้จัดการมาร์บริดจ์ คอนซัลติง ในปักกิ่ง เชื่อว่า ทางการจีนอยากให้ยักษ์เทคโนโลยีของจีนจดทะเบียนในตลาดใกล้บ้านอยู่นานแล้ว ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ฮ่องกงเช่นนี้ ความต้องการให้บริษัทขนาดใหญ่ของจีนแสดงออกถึงความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของฮ่องกงในอนาคตก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ภายใต้สภาพที่ต่างฝ่ายต่างได้ผลลัพธ์ในทางบวกด้วยกัน ไม่ยากที่จะเกิดการ “ขอแรง” ให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งนี้ขึ้นตามมา

สำหรับอาลีบาบาแล้ว ผลลัพธ์ที่ต้องการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อฮ่องกงสามารถคงสถานะเปิดกว้างของตนไว้ต่อไป

แต่ภายใต้สถานการณ์การประท้วงที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าอนาคตของฮ่องกงจะยังเป็นเช่นนั้นอยู่ได้ต่อไปหรือไม่

การตัดสินใจของอาลีบาบาในเวลานี้จึงเป็นการเดิมพันที่สุ่มเสี่ยงไม่น้อยอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง