Online Lifestyle เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้ธุรกิจ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ณัฐพร ศรีทอง ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธ.กรุงไทย

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างพร้อมใจกันปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า พร้อมส่งสัญญาณว่า “เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว” จากความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ ในภาวะเช่นนี้คงจะสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการอยู่มิใช่น้อย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการปรับตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกด้านที่ภาคธุรกิจควรตระหนัก เพื่อรีบฉกฉวยมาเป็นโอกาส โดยเฉพาะในยุคที่เรียกได้ว่า “ปลาเร็วกินปลาช้า” เช่นนี้ นั่นก็คือการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในโลกออนไลน์ (online lifestyle) โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ขอหยิบยก 5 เทรนด์ที่สำคัญมานำเสนอพร้อมทั้งคำแนะนำในการปรับตัวของภาคธุรกิจ

เทรนด์แรก คือ ชีวิตติดเน็ต โดยปัจจุบันนี้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน มากเป็นอันดับ 3 ของโลกโดยเฉพาะผ่านโทรศัพท์มือถือ (จาก Global Digital Report โดย We Are Social และ Hootsuite) แม้ว่าระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตจะสูง แต่สัดส่วนประชากรไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 82% ซึ่งน้อยกว่าในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ (95%) เกาหลีใต้ (95%) ญี่ปุ่น (94%) และยุโรป (86%) อย่างไรก็ดี งานวิจัยร่วมระหว่าง Google และ Temasek ประเมินว่า สัดส่วนดังกล่าวของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 85% ในปี 2020

แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการหลายท่านอาจรับรู้อยู่แล้ว แต่ก็เป็นการตอกย้ำว่าธุรกิจควรฝังตัวเองให้อยู่บนหน้าจอมือถือของลูกค้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ก้าวมาอยู่ในโลกออนไลน์และผสานระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์มากขึ้น ทั้งด้านช่องทางการขาย การทำตลาดและสื่อสารกับลูกค้า การชำระเงิน หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการธุรกิจ

เทรนด์ที่สอง คือ Gen C…เมื่อโลกของผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน สืบเนื่องจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่มากขึ้น จึงทำให้กลุ่ม Gen C (connected consumer generation) หรือผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมตัวเองกับข้อมูลต่าง ๆ สูง เพิ่มขึ้น โดยบริษัท Tetra Pak ซึ่งเป็นบริษัทด้านบรรจุภัณฑ์และแปรรูปอาหารระดับโลก ได้เก็บข้อมูลจาก 70,000 คน ใน 57 ประเทศ พบว่าพฤติกรรมที่โดดเด่นของ Gen C มี 3 ประการ คือ 1) ใช้เวลาออนไลน์ไม่ต่ำกว่าวันละ 4 ชั่วโมง 2) มีความพร้อมเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา และ 3) มักเชื่อข้อมูลของสินค้าหรือบริการที่ได้รับจากคนรอบข้าง (word of mouth : WOM) มากกว่าข้อมูลที่ได้จากสื่อของบริษัทที่ขายสินค้า (ad from brand)

พฤติกรรมที่น่าสนใจของ Gen C คือการได้รับอิทธิพลจาก WOM ที่สูง ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับข้อมูลของ One Productions ซึ่งเป็นบริษัทเอเยนซี่ที่เชี่ยวชาญการผลิต video content ที่พบว่า 90% ของผู้บริโภคเลือกที่จะเชื่อข้อมูลของสินค้าที่ได้รับจากคนรอบข้าง ขณะที่มีผู้บริโภคเพียง 33% เท่านั้นที่ยังเชื่อข้อมูลที่ได้จากโฆษณาแบบ ad from brand ทำให้ผู้ประกอบการบางราย อย่าง Este’e Lauder บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เริ่มหันมาทำการตลาดผ่านผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จริง ๆ มากขึ้น โดยทุ่มงบฯการตลาดกว่า 75% ไปกับ influencer หรือผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้อื่น

เพื่อตอบสนองเทรนด์นี้ ผู้ประกอบการควรพิจารณาหันมาใช้ influencer ในทางการตลาดมากขึ้น โดยอาจเริ่มจาก 4 ข้อควรรู้ ได้แก่

1) รู้ว่าใครคือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเรา

2) รู้ว่าลูกค้าติดตาม influencer ประเภทใด หรือคนใด

3) รู้ว่าสินค้าของเราเป็นที่รู้จักกว้างขวางพอรึยัง เพื่อจะได้เลือก influencer ให้เหมาะสม เช่น ใช้ macro influencer ซึ่งมียอดผู้ติดตามสูง สำหรับสินค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และ

4) รู้ว่าควรที่จะติดต่อเองหรือผ่านตัวกลางดี

เทรนด์ที่สาม คือ สูงวัยแต่ใจออนไลน์ โดยในปี 2021 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (มีสัดส่วนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 20%) กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะ baby boomer จึงมีความสำคัญต่อการบริโภคโดยรวมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต และการซื้อสินค้าออนไลน์

จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า กลุ่ม baby boomer มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 4 ชั่วโมงต่อวันในปี 2017 เป็น 8 ชั่วโมงต่อวันในปี 2018 เช่นเดียวกับสัดส่วนผู้สูงอายุที่ซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 46% ในช่วงเวลาเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นแล้ว สิ่งที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุน่าสนใจเป็นพิเศษ คือ ความถี่และมูลค่าในการสั่งซื้อที่สูง ผลสำรวจของบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 15-16 ครั้งต่อปี และใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อครั้ง หรือ 32,000 บาทต่อปี

ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับ segment นี้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่นในกรณีประเทศจีนที่ผู้ให้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์รายสำคัญอย่าง “เถาเป่า” (TAOBAO) ได้ปรับปรุงแอปพลิเคชั่นใหม่ ให้เป็นมิตรกับผู้สูงวัย อาทิ ปรับการลงทะเบียนสมัครให้ง่ายขึ้น เน้นตัวอักษรขนาดใหญ่ ดีไซน์โล่ง และเพิ่มบริการผูกบัญชีจ่ายเงินกับบุตรหลาน

เทรนด์ที่สี่ คือ โสดพร้อมเพย์ ด้วยยุคสมัย ทัศนคติ ค่านิยมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้คนสมัยใหม่เลือกที่จะครองตัวเป็นโสดกันมากขึ้น เห็นได้จากการจดทะเบียนสมรสในปี 2017 ที่ลดลงกว่า 20,000 คู่ จาก 318,496 คู่เมื่อปี 2008 สวนทางกับสถิติการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ คือ กลุ่มคนโสดมักเลือกการช็อปปิ้งเป็นกิจกรรมคลายเหงา จากผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่า คนโสดมีแนวโน้มเหงากว่าคนกลุ่มอื่น และมักกินและช็อปแก้เหงา

นอกจากนี้ คนโสดยังจ่ายเงินกับกิจกรรมช็อปปิ้งโดยเฉลี่ยสูงกว่าคนที่มีครอบครัวแล้ว โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนโสดจะมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อครัวเรือนมากกว่าคนที่มีครอบครัวแล้วในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดเสื้อผ้า ที่คนโสดจะใช้จ่ายสูงกว่าคนที่มีครอบครัวแล้วกว่า 35% และ 43% ตามลำดับ

ดังนั้น ตลาดคนโสดที่จะเติบโตขึ้น จึงสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจ โดยจากประสบการณ์ในประเทศจีน พบว่าการสั่งอาหารออนไลน์ และการซื้อสินค้าขนาดเล็กลงขยายตัวสูงตามคนโสดที่เพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของ Tmall
ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ในเครือ Alibaba พบว่า ในปี 2018 ยอดขายไมโครเวฟและเครื่องซักผ้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่ 980% และ 630% จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ยอดสั่งซื้อสุกี้จานด่วนสำหรับทานคนเดียวเพิ่มขึ้น 210%

เทรนด์สุดท้าย คือ อยากกินต้องได้กิน โดยการสั่งอาหารดีลิเวอรี่ออนไลน์ จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะถูกจริต “อยากกินต้องได้กิน” ของคนไทย โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ที่มุ่งเน้นความสะดวกสบาย เร่งรีบและผูกติดกับมือถือ โดยจากผลสำรวจของ CMMU พบว่า 81% ของกลุ่มตัวอย่าง “ขี้เกียจรอคิวซื้อของ” และกว่า 70% “ขี้เกียจทำอาหาร” ประกอบกับผู้ประกอบการ online food delivery มุ่งตอบโจทย์ “สะดวก ทันใจ หลากหลาย ราคาถูก” อย่างเต็มเหนี่ยว ซึ่งสนับสนุนให้ธุรกิจ online food delivery ในไทยเติบโตกว่า 2 เท่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าตลาดกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 (ข้อมูลจาก Euromonitor International)

นอกจากนั้น ในระยะถัดไป คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารออนไลน์ต่าง ๆ เริ่มหันมาเจาะตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่มากขึ้น จากปัจจุบันยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ

ผู้ประกอบการร้านอาหารจึงควรเพิ่มช่องทางการขายในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น โดยอาศัยแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ หรือ e-Commerce logistics เพื่อกระตุ้นยอดขาย และช่วยลดภาระของผู้ประกอบการ หากเปรียบเทียบกับกรณีมีบริการจัดส่งอาหารเอง

นอกจากนั้นในกรณีที่ร้านอาหารหันมารับออร์เดอร์ทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้การขยายสาขาใหม่ไม่จำเป็นต้องเช่าที่ในทำเลที่มีราคาแพงนัก หรือมีร้านขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้การขยายสาขาทำได้ในต้นทุนที่ถูกลง

จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โครงสร้างประชากร และค่านิยมทางสังคม ต่อเนื่องสู่พฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนตาม ดัง 5 เทรนด์ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น

ผู้ประกอบการควรตระหนักและปรับตัวเพื่อให้ไม่ตกขบวนและตอบโจทย์กระแสผู้บริโภคยุคใหม่ได้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจต่อไป