“งดแจกถุงพลาสติก” 1 ม.ค.2563 ลดปริมาณขยะ 2.25 แสนตัน/ปี

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย กรมควบคุมมลพิษ

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดเลิกใช้ถุงพลาสติกแก้ปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อนได้รับการตอบรับในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันแก้ไขปัญหาที่ก่อให้เกิดหายนะกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 เห็นชอบกลไก

การขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ด้วยการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ

สิ่งแวดล้อมภายใต้ roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573

ขณะเดียวกันก็มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการดำเนินงาน โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมมือกับภาคเอกชนในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจมาตรการดังกล่าว

กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน 43 ราย พิจารณากำหนดแนวทางและวิธีการปฏิบัติสำหรับมาตรการงดให้ถุงพลาสติก

ทส.รายงานว่า ก่อนหน้านี้กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติก เมื่อ 6 กันยายน 2562

โดยมี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานการประชุม และผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้า

ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ภาครัฐ

ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบกลไกการขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติก และกรมควบคุมมลพิษได้นำเสนอกลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติกดังกล่าว ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อ 19 กันยายน 2562 โดยที่ประชุมมีมติรับทราบและเห็นชอบ ก่อนนำเสนอ ครม.

สำหรับกลไกขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติกมีสาระสำคัญคือ กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพ

สิ่งแวดล้อม จะประชุมหารือร่วมกับภาคีเครือข่าย 43 ราย เพื่อกำหนดแนวทาง วิธีการปฏิบัติ สำหรับมาตรการงดให้ถุงพลาสติก และขึ้นอยู่กับห้างร้านที่จะพิจารณาเลือกแนวทางวิธีการที่เหมาะสม

แต่ต้องเป็นไปตามหลักการงดให้ถุงพลาสติก รวมทั้งกำหนดวิธีการปฏิบัติผ่อนผันที่้ชัดเจนสำหรับภาชนะหรือถุงบรรจุของร้อน อาหารเปียก เนื้อสัตว์ และผลไม้

การสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชนร่วมกันรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ในช่วง 4 เดือนก่อนหยุดให้ถุงพลาสติกในพื้นที่กทม. และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

สำหรับผู้ประกอบการห้างอื่น ๆ นอกเหนือจาก 43 ราย รวมทั้งร้านขายของชำและตลาดสด ให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน ร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ และให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัด ร่วมประชาสัมพันธ์ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563

ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็น ในลักษณะ road-show ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการยก (ร่าง) พ.ร.บ.การจัดการขยะพลาสติก โดยกำหนดเป้าหมายให้ถุงพลาสติกหูหิ้วหมดไปจากท้องตลาด ในวันที่ 1 มกราคม 2546

นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สถาบันพลาสติก และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เพื่อหาแนวทางการใช้วัสดุทดแทนพลาสติกและส่งเสริมการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้สำหรับกระบวนการ pyrolysis ในการหลอมขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมัน และนำน้ำมันมาผลิตเม็ดพลาสติก (พลาสติกมีส่วนประกอบหลักทางเคมีเหมือนกับน้ำมัน ดังนั้น ถ้าหากนำ

พลาสติกไปเผาแล้วกลั่นแยกส่วนจะได้ผลผลิตเป็นน้ำมัน แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากน้ำมันมีราคาถูก จึงเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาทางเลือก

ทั้งนี้ กรมควบคุมพลพิษจะเร่งจัดทำกฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารจัดการขยะ พลาสติก โดยการทบทวน ปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมการลดและนำของเสียมาใช้ประโยชน์ พ.ศ. …เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ปริมาณขยะถุงพลาสติกหูหิ้วลดลง 45,000 ล้านใบต่อปี ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดลง 225,000 ตันต่อปี หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 340 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอยในการฝังกลบได้ประมาณ 616 ไร่