แก้ปัญหาเศรษฐกิจไร้หางเสือยิ่งจมดิ่ง

บทบรรณาธิการ

หลายหน่วยงานกำลังเตรียมแพ็กเกจของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เพราะโค้งสุดท้ายปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการอัดฉีดกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่าย เงินหมุนเวียนในระบบจะยิ่งฝืด

เนื่องจาก 2 เครื่องยนต์หลักทั้งการลงทุนและการส่งออกแม้ไม่ถึงกับดับสนิทแต่สะดุดต่อเนื่อง จากปัจจัยลบทั้งภายใน และนอกประเทศที่เข้ามากระทบ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุด เมื่อ 19 พฤศจิกายน ประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเป็นการเร่งด่วน หลังได้รับแรงกดดันรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่ฐานเสียงทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างกลุ่มคนระดับกลางและล่างที่กำลังเผชิญความยากลำบาก

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมากระตุ้นให้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจรีบสร้าง
ผลงาน ปรับรูปแบบ วิธีการทำงาน มุ่งให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งเศรษฐกิจมหภาค จุลภาค ที่สำคัญประโยชน์ต้องตกกับผู้มีรายได้น้อย คนด้อยโอกาส

เพื่อหักล้างคำวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งข้อสังเกตในทำนองหลากหลายมาตรการที่ผ่านมาเอื้อกับกลุ่มธุรกิจ ตระกูลดัง มากกว่าจะถึงมือชาวบ้าน กลายเป็นประเด็นที่ทำให้รัฐบาลถูกดิสเครดิตบ่อยครั้ง เพราะแก้ปัญหา
ไม่ตอบโจทย์

ที่สำคัญรัฐบาลยังอุดจุดอ่อนไม่ได้ ทำให้ปมเศรษฐกิจยิ่งเรื้อรัง กลายเป็นสมการถอดยากขึ้น บวกกับปัจจัยทางการเมือง การเป็นรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ ต่างจากยุครัฐบาล คสช.ที่สามารถผลักดันนโยบาย และการป้องกันแก้ไขปัญหาสารพัดได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ตรงข้ามกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่กระทรวงเสาหลักด้านเศรษฐกิจถูกแบ่งสรรให้กับ 3 พรรคการเมืองใหญ่ อีกทั้งรองนายกฯ ที่กำกับดูแลมี 3 คน

ทั้งหมดนี้แม้เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย กรณีรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง แต่การขับเคลื่อนนโยบาย กับการปฏิบัติไปคนละทิศทางไร้หางเสือ ทั้งที่หลายเรื่องเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงคาดหวังผลได้ลำบาก

สาเหตุหลักเป็นเพราะระดับนโยบายซึ่งมาจากการเมืองต่างพรรคไม่พยายามทำงานในลักษณะสอดประสาน แถมบางครั้งเกิดการปีนเกลียว ยิ่งซ้ำเติมปัญหาแทนที่จะร่วมด้วยช่วยกันหาทางออก

นายกฯในฐานะผู้นำรัฐบาลซึ่งไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ จึงต้องกุมสภาพให้ได้ ขณะเดียวกันก็เร่งทลายข้อจำกัด ขจัดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค พลิกสถานการณ์จากที่ติดลบให้กลับมาเป็นบวก ก่อนจะจมดิ่งยิ่งกว่านี้