กระตุ้นอสังหาฯยึดประโยชน์คนซื้อบ้าน

บทบรรณาธิการ

โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา เหมือนโอเอซิสกลางทะเลทรายช่วยให้ตลาดบ้านและคอนโดฯโค้งสุดท้ายที่เงียบเหงากว่าปกติมีความหวังมากขึ้น อย่างน้อยดีเวลอปเปอร์ก็เห็นช่องทางระบายสต๊อกเก่า ลดต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องแบกรับ

เป็นกระตุ้นซ้ำจากก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเมื่อ 22 ต.ค. 2562 ให้ลดค่าธรรมเนียนการโอนอสังหาฯ จาก 2% เหลือ 0.01% ลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เฉพาะในโครงการของผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธ.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม จากที่มาตรการลดค่าโอน จดจำนองโฟกัสกำลังซื้อระดับกลางและล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ ส่งผลให้โครงการ “บ้านในฝัน รับปีใหม่” ที่ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ผนึกกำลังจัดโปรโมชั่นลด แจก แถมพิเศษ ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2.5% 3 ปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท รองรับ ได้รับการตอบรับน้อยกว่าที่คาด

เป็นที่มาของมาตรการอัดฉีดรอบใหม่ “บ้านดีมีดาวน์” ที่รัฐจะสนับสนุนเงินดาวน์บ้าน คอนโดฯ ให้รายละ 5 หมื่นบาท รวม 1 แสนราย โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5 พันล้านบาท ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ ตั้งแต่ 27 พ.ย.-31 มี.ค. 2563 โดยกำหนดเงื่อนไขต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/เดือน หรือไม่เกิน 1.2 ล้านบาท/ปี และต้องอยู่ในระบบภาษีของกรมสรรพากร

พิจารณารายละเอียดมาตรการนี้แม้คนซื้อบ้าน และผู้ประกอบการอสังหาฯ ต่างได้ประโยชน์ แต่การเปิดกว้างให้คนมีรายได้ไม่เกินแสนบาท/เดือน ลงทะเบียนขอรับสิทธิสนับสนุนเงินดาวน์จากภาครัฐ และเปิดกว้างให้ซื้อบ้าน คอนโดฯ ทุกระดับราคา แทนที่จะสนับสนุนเงินดาวน์เฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ปานกลาง ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทำนอง รัฐต้องการปลุกตลาดอสังหาฯ ระบายสต๊อกค้างในมือผู้ประกอบการ มากกว่ายึดประโยชน์คนซื้อบ้าน

ที่สำคัญ การนำเงินงบประมาณซึ่งมาจากภาษีประชาชน ช่วยสนับสนุนเงินดาวน์บ้าน-คอนโดฯ ให้คนบางกลุ่มที่ไม่มีความเดือดร้อนทางการเงิน และไม่จำเป็นที่รัฐต้องช่วยเหลือ ไม่เหมือนกับคนระดับกลาง ล่าง มนุษย์เงินเดือน อีกจำนวนมากที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทำให้มีคำถามและข้อสงสัยตามมา

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคอสังหาฯ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทั้งในแง่มูลค่าลงทุน กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกหลากหลาย แต่การกระตุ้นโดยมุ่งเน้นลดซัพพลายอสังหาฯในตลาด มากกว่าจะพุ่งเป้าที่คนซื้อบ้าน จึงอาจต้องอธิบายชี้แจงถึงความเหมาะสมจำเป็นให้สาธารณชนหายคลางแคลงใจ