ลุ้นตัวโก่ง… เศรษฐกิจไทยปี 63

BANGKOK, THAILAND - (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

เวลานี้หันหน้าไปทางไหนได้ยินแต่เสียงบ่น “เศรษฐกิจไม่ค่อยดี” อื้ออึงไปหมด เช่นเดียวกับความวิตกกังวลไปถึงปี 2563 สถานการณ์เศรษฐกิจอาจหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า

แต่ภาพที่เราเห็นอาจดูขัดแย้งในตัวเองอยู่ไม่น้อยคนไทยบินไปเที่ยวต่างประเทศเป็นว่าเล่น ผู้คนรุมจองซื้อรถใหม่ ๆ ที่เปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์ส่งท้ายปีที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี คอนเสิร์ตยังจัดกันถี่ยิบ หลาย ๆ งานบัตร sold out ล่วงหน้าเป็นเดือน ๆ

รวมไปถึงยอดขายไอโฟน 11 ที่เพิ่งวางตลาดประเทศไทยไม่นาน ทำให้ผู้นำเข้ารายใหญ่งง ๆ กับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย มียอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับไอโฟนรุ่นก่อนหน้า

จริงอยู่ ไอโฟน 11 นอกจากจะถูกพัฒนาให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้งตั้งราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ประกอบกับช่วงนี้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นใจให้กับสินค้านำเข้า

แต่รวม ๆ แล้ว ราคาไม่ได้เรียกว่าถูก

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพักใหญ่กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ตอนนี้เห็นสัญญาณชัดเจนว่า บ้านหรือคอนโดมิเนียมที่จับกลุ่มลูกค้า 4 ล้านบาทลงมา ตลาดค่อนข้างฝืดมาก เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่ คือ มนุษย์เงินเดือน ทำให้มักมีปัญหาถูกปฏิเสธสินเชื่อจากแบงก์ ต่างจากบ้านราคาสูง ๆ สิบกว่าล้านบาทขึ้นไป ที่ตลาดยังไปได้ดี

จริงอยู่ ยอดขายของไอโฟนที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่วนหนึ่งมาจากราคา อีกส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลที่ว่า มือถือกลายเป็นสินค้าในกลุ่มที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ “ต้องมี” ไปแล้ว

แต่เมื่อมองไปถึงพฤติกรรมการจับจ่ายในกลุ่มสินค้าอื่น ๆ นักธุรกิจใหญ่วิเคราะห์ว่า ตลาดบนยังมีเงินในกระเป๋า ยังมีอำนาจในการจับจ่าย พร้อมซื้อหาในสิ่งที่ต้องการ

น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มรากหญ้า ไล่ไปถึงมนุษย์เงินเดือน พบว่าตอนนี้ “มู้ดการจับจ่าย” โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า ไล่มาถึงมนุษย์เงินเดือน ไม่ดีเอาเลย

ความรู้สึกที่สัมผัสได้ คือ ในขณะที่รายรับเพิ่มไม่ทันกับรายจ่าย แต่ข้าวของโดยเฉพาะอาหารการกิน แพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ถามบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งในห้าง-นอกห้าง บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า แบกต้นทุนไม่ไหวแล้วจริง ๆ

มองไปทางรัฐบาล พูดตรงกันว่าไม่รู้จะฝากผีฝากไข้ได้หรือไม่ จากกลไกที่บิด ๆ เบี้ยว ๆ แบ่งเก้าอี้ตามโควตาจำนวนเสียง ส.ส.ของแต่ละพรรค

กระทรวงเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับปากท้องจึงถูกแบ่งเป็นเสี่ยง ๆ เวลาจะเข็นนโยบายอะไรออกมาสักอย่าง จึงไม่มีเอกภาพ

อะไรไม่เท่ากับบางพรรค บางรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงตัวเอง มากกว่ามองภาพรวมของประเทศ

นักการตลาดใหญ่อีกรายมองว่า ภาวะไร้อารมณ์การจับจ่ายที่กำลังเกิดขึ้น เป็นข่าวร้ายของภาคธุรกิจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ครั้งวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในประเทศไทย เมื่อปี 2540 จะมองเรื่องอนาคตมากเป็นพิเศษ

ไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ ๆ ที่พฤติกรรมการจับจ่ายต่างออกไป ไม่เคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ ๆ กลุ่มนี้พร้อมใช้สตางค์ซื้อหาความสุข ไม่ได้มองไกล ๆ ไปถึงอนาคตมากนัก

สิ่งที่ภาคธุรกิจเห็นไม่ต่างกัน คือ ไตรมาสสุดท้ายปลายปี 2562 น่าจะพอประคับประคองสถานการณ์ไปได้ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลจับจ่าย ส่วนใหญ่คนจะใช้จ่ายเงินกันในช่วงนี้

ที่น่าเป็นห่วงกันก็คือ ไตรมาส 1 ปีหน้า มองกันว่าเป็นช่วงเวลาบีบหัวใจเป็นที่สุด ไม่มีใครเชื่อว่าปัญหาส่งออก ค่าเงินบาท และสงครามการค้าที่ส่งผลต่อประเทศไทยจะได้รับการแก้ไข

นอกจากปัญหาจะไม่บรรเทาเบาบางลง อาจเพิ่มดีกรีขึ้นด้วยซ้ำ