Heliogen กับพลังงานโซลาร์ ร้อนทะลุ 1 พันองศา

Bill Gates (Photo by Nicolas Liponne/NurPhoto via Getty Images)

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ ปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ข่าวน่ายินดีสำหรับชาวโลกและผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นั่นคือ มีผู้ค้นพบวิธีใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการให้ความร้อนสูง (มาก)

Heliogen สตาร์ตอัพที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมหาเศรษฐีอย่าง บิล เกตส์ และ แพรทริค ชุน-ซิออน (ผู้ค้นพบยารักษามะเร็งและเจ้าของ Los Angeles Times) แถลงเปิดตัวโซลูชั่นใหม่ที่เพิ่มความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียสได้สำเร็จ

วันนี้ใครผ่านไปแถวทะเลทราย Mojave ในเมืองแลนแคสเตอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย จะเห็นกระจกขนาดใหญ่กว่า 400 บาน เรียงเป็นพรืด ทำหน้าที่สะท้อนแสงอาทิตย์ไปยังตัวรับความร้อนบนหอคอยด้านข้าง ความเก๋อยู่ที่พวกมัน “เทรน” และ “ควบคุม” โดย AI ให้ปรับองศาไปตามการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ทุกวินาที แต่ยังคงเพ่งความร้อนไปรวมศูนย์ ณ จุดรับความร้อนจุดเดิมตลอดเวลาเพื่อให้เกิดความร้อนสูงสุด

หลักการนี้ชื่อว่า “ระบบรวมแสงอาทิตย์” (concentrated solar power) ซึ่งไม่ใหม่แต่ก่อนนี้ให้ความร้อนแค่ 565 องศาเซลเซียส ว่ากันว่าเทคโนโลยีของ Heliogen สร้างความร้อนได้ถึง 1,500 องศาเซลเซียส เพียงพอนำมาผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ในอนาคต

แต่ “บิล กรอส” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ขอโฟกัสที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก่อนเพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีละ 2 พันล้านตัน (8% ของทั้งหมด)

“บิล” บอกว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการทดลอง “จำลองการเผาหินปูน” อันเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการผลิตปูน และกำลังมองหาบริษัทปูนซีเมนต์ที่พร้อมเป็นพันธมิตรนำไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์

ถึงเทคโนโลยีของ Heliogen จะสร้างความฮือฮา แต่สื่อออนไลน์อย่าง Wired รายงานว่า ก่อนหน้านี้มีคนคิดและทดลองทำอะไรคล้าย ๆ กันมาแล้ว ได้แก่ กลุ่ม Solpart โปรเจ็กต์วิจัยและพัฒนาที่ได้รับทุนจาก EU พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ให้ความร้อนสูง และตั้งเป้าจะสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตในปี 2025

ปีที่แล้ว Solpart ทดลองใช้เตารังสีแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในฝรั่งเศส จำลองขั้นตอนการเผาหินปูนด้วยความร้อนสูงคล้าย Heliogen แต่ยังต้องหาวิธีขยายสเกลจากการใช้หินปูนไม่กี่ก้อนเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ที่ต้องเผาหินปูนมหาศาลต่อไป ทั้งต้องพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานเพื่อให้ผลิตปูนได้ตลอดเวลาแม้ไม่มีแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังออกมาดึงสติคนที่ฝันว่าเทคโนโลยีของ Heliogen จะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ go green 100% ว่าถึงจะลดปริมาณ CO2 ในขั้นตอนการเผาได้ แต่กระบวนการอื่นในการผลิตปูนยังปล่อยก๊าซ CO2 จำนวนมาก ฉะนั้น หากอยากให้อุตสาหกรรมปูนบริสุทธิ์ผุดผ่องต้องเปลี่ยนวัตถุดิบจากหินปูนเป็นอย่างอื่น หรือมีเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนได้ระหว่างการผลิต

“บิล” ยอมรับข้อจำกัดเหล่านี้ และรู้ว่าคงมีโรงงานปูนซีเมนต์ไม่ถึงครึ่งในโลกนี้ที่มีพื้นที่พอสร้างทุ่งกระจกใกล้ ๆ ได้ ทีมงานจึงเร่งพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานเพื่อให้โรงปูนผลิตปูนได้ตลอดเวลา พร้อมเตรียมระดมทุนอีกรอบเพื่อรองรับการขยายสเกลสำหรับใช้งานจริงในระดับอุตสาหกรรม

ถึงจะรู้ว่าไม่ง่าย แต่บิลเชื่อว่าอย่างน้อยเทคโนโลยีของ Heliogen จะทำให้ขั้นตอนการผลิตปูนซีเมนต์สะอาดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในวันที่โลก “ร้อน” ขึ้นทุกวัน สอดคล้องกับคำแถลงล่าสุดจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่บอกว่า ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ในชั้นบรรยากาศโลกในปีที่ผ่านมาได้พุ่งสูงขึ้นจนถึงขั้นทำลายสถิติไปอีกแล้ว

ชาวโลกอย่างเราคงอดใจรอเทคโนโลยีที่ได้ผล 100% ไม่ไหว จึงได้แต่ส่งใจไปเชียร์บิลให้นำ “ทุ่งกระจก” ของเขาออกมาต้านภัยก๊าซเรือนกระจก “ได้จริง” ในเร็ววัน