ไขปริศนา 7 ปี “อาร์เซ็ป”

(Photo by Liu Zhen/China News Service/VCG via Getty Images)

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย อรมน ทรัพน์ทวีธรรม

หนึ่งในความสำเร็จสำคัญที่เกิดขึ้นจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนของไทย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ การที่ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับผู้นำอีก 6 ประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เรารู้จักกันในฐานะกลุ่มประเทศเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ได้ออกแถลงการณ์ประกาศความสำเร็จของการเจรจาอาร์เซ็ป ที่เริ่มเปิดการเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2556

ซึ่งหากมองย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า จุดเริ่มต้นของอาร์เซ็ปเกิดจากอาเซียนเห็นโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมกับประเทศที่อาเซียนมีความตกลงการค้าเสรีอยู่แล้ว เพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาร์เซ็ปจึงกลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง (ASEAN centrality) ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

อาร์เซ็ปกับตลาดขนาดใหญ่

อาร์เซ็ปถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน ครอบคลุมประชากรกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 59.8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย ผู้ประกอบการไทยสามารถสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคามากขึ้น จากเดิมที่สรรหาวัตถุดิบเพียง 10 ประเทศในอาเซียน ขยายเป็น 16 ประเทศ

ทำให้ไทยเข้าไปอยู่ในเครือข่ายภาคการผลิต และการกระจายสินค้าของภูมิภาค ความตกลงอาร์เซ็ปยังช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า การยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่าง ๆ ระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนของไทย รวมทั้งสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชั่นเป็นต้น

อาร์เซ็ปกับความครอบคลุมมิติทางการค้ายุคใหม่

อาร์เซ็ปยังเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาฉบับล่าสุดที่ครอบคลุมมิติทางการค้ายุคใหม่ที่หลากหลาย อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อำนวยความสะดวกการค้ายุคใหม่ที่มีรูปแบบเปลี่ยนไปจากการค้าดั้งเดิม ทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ เนื้อหาทางวัฒนธรรม และศิลปะ จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิก ความโปร่งใสของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การแข่งขัน ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและสวัสดิภาพของผู้บริโภค และให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและโลก เป็นต้น

ก้าวต่อไปหลังปิดดีลอาร์เซ็ป

ในการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ผู้นำอาร์เซ็ปได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า

“สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศสามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดีย ยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ ซึ่งสมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป”

อย่างไรก็ดี แม้อินเดียจะยังไม่เข้าร่วมปิดดีลอาร์เซ็ปในขั้นนี้ แต่ความตกลงอาร์เซ็ปที่มีสมาชิก 15 ประเทศ ยังเป็น FTA ฉบับใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 24.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28.96% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 27.22% ของมูลค่าการค้าโลก โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 57.31% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกกว่า 1.41 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 55.79% ของการส่งออกรวมของไทย และมีมูลค่านำเข้าจากประเทศสมาชิกกว่า 1.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 58.74% ของการนำเข้าของไทย

ซึ่งหลังจากนี้ สมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 15 ประเทศ จะจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 บท และดำเนินกระบวนการภายในของแต่ละประเทศให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ทั้ง 15 ประเทศสามารถลงนามร่วมกันได้ในปี 2563 ตามที่ผู้นำตั้งเป้าไว้

อาร์เซ็ปกับกุญแจแห่งความสำเร็จ

ในการเจรจาอาร์เซ็ปที่ผ่านมา ความท้าทายและยากลำบากส่วนหนึ่งเกิดจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสมาชิก เพราะอาร์เซ็ปประกอบด้วยสมาชิกที่หลากหลาย ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งมีกฎหมาย กฎระเบียบ และความอ่อนไหวที่ต่างกัน ทำให้ความคาดหวังในการเจรจาก็ต่างกัน อีกทั้งบางประเทศก็ยังไม่เคยมีการจัดทำ FTA ระหว่างกัน ทำให้การเจรจาเป็นไปอย่างระมัดระวัง และสงวนท่าที

อย่างไรก็ดี กุญแจสำคัญของความสำเร็จในการเจรจาปิดดีลอาร์เซ็ปได้ในปีนี้ คือ ความจริงใจและตั้งใจของประเทศสมาชิก ที่ต้องการสร้างกลไกการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้สมาชิกสามารถข้ามผ่าน และเผชิญความท้าทายของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ตลอดเวลาการทำหน้าที่ประธานอาเซียน และประธานการประชุมอาร์เซ็ปของไทย ในปี 2562

ไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างต่อเนื่องในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ จนทำให้จากต้นปี 2562 ที่สมาชิกอาร์เซ็ปมีความคืบหน้าในการเจรจาจัดทำข้อบทความตกลงสำเร็จแค่ 7 บท จาก 20 บท เป็นจบเพิ่มอีก 13 บท และได้ข้อสรุปทั้ง 20 บท ในปีนี้ ส่งผลให้การเจรจาความตกลงอาร์เซ็ปสามารถปิดจ็อบ และนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคอย่างยั่งยืน