กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่ผู้ประกอบการควรรู้

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย กิตติ ตั้งจิตรมณี รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ

 

แม้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยจะใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 แต่อาจจะเป็นชื่อที่ผู้ประกอบการไม่คุ้นเคย แต่หลังแก้ไขกฎหมายนี้ในปี พ.ศ. 2560 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการดำเนินคดียืดหยุ่นขึ้น บทลงโทษที่เหมาะสมกับความผิด การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความเป็นอิสระและทำงานเต็มเวลา รวมถึงการตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระและมีงบประมาณเหมาะสม กฎหมายการแข่งขันทางการค้าจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีความคล่องตัว มีบทบาทและผลงานชัดเจนมากขึ้น เห็นได้จากการหยิบเรื่องร้องเรียนที่ค้างพิจารณามานานเกือบสิบปีขึ้นพิจารณาและตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนั้น คณะกรรมการยังได้ออกแนวทางพิจารณา (guideline) อีกหลายเรื่อง ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นแนวในการบังคับใช้กฎหมายได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้าจะเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศที่มีบทบาทสูงต่อไป การบังคับใช้กฎหมายจะจริงจังมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องระมัดระวังไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบหรือเสียหายจากกระทำการต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรมจะได้รับการดูแลที่เหมาะสมและรวดเร็วยิ่งขึ้น

กฎหมายการแข่งขันทางการค้า มีเรื่องที่ควรทราบ 3 เรื่องใหญ่ ดังนี้

1.การใช้อำนาจผูกขาดโดยไม่ชอบ (Abuse of Dominant Power)

กฎหมายสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศกำหนดว่า ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาด (market share) สูงถึงระดับที่อาจควบคุมตลาดได้จะเป็นความผิดตามกฎหมายในตัวเอง แต่กฎหมายไทย (ซึ่งคล้ายกับกฎหมายประเทศในยุโรป) กำหนดว่า การที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงจนอาจสามารถควบคุมตลาดได้ หรือเรียกว่า “เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด” นั้น ไม่เป็นความผิดในตัวเอง แต่ห้ามไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดทำการบางอย่าง เช่น ห้ามกำหนดราคาหรือระดับราคาซื้อ/บริการโดยไม่เป็นธรรม หรือกำหนดเงื่อนไขการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น ขายสินค้าต่ำกว่าทุนเพื่อให้คู่แข่งอยู่ไม่ได้ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังกำหนด ห้ามทำการควบกิจการ หรือรวมกิจการ ไม่ว่าโดยซื้อหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินของผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง (merger & acquisition) ที่มีผลให้กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันฯ ก่อนทำการควบรวม

2.การฮั้ว (Cartel)

การฮั้ว คือ การตกลงของผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป เพื่อลดการแข่งขัน เช่น กำหนดราคาขายไปในทิศทางเดียวกัน (กำหนดราคาเท่ากัน หรือกำหนดส่วนต่างราคา) การจำกัดปริมาณสินค้า การแบ่งตลาด ฯลฯ เป็นการกระทำผิดกฎหมาย จึงต้องระมัดระวังพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจเป็นการฮั้วได้ ซึ่งรวมถึงการกินโต๊ะแชร์ การประชุมสมาคมทางการค้า ที่มักมีแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าอาจนำไปสู่การฮั้วได้ โดยการฮั้วจะเป็นความผิดทุกกรณี ไม่ว่าเป็นการกระทำของผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรายใหญ่

นอกจากนี้ การฮั้วประมูลที่มีการตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นผู้เสนอราคาเท่าไร ก็ผิดตามกฎหมายนี้ แม้จะเป็นการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชน

3.การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practice)

การกระทำทางการค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการอื่น เช่น บังคับหรือกำหนดเงื่อนไขไม่เป็นธรรมกับคู่ค้าที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ไม่ว่าผู้ประกอบการจะเป็นรายใหญ่ หรือรายเล็ก การค้าที่ไม่เป็นธรรมขึ้นอยู่กับสถานการณ์และข้อเท็จจริงของคู่ค้าเป็นราย ๆ ไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้ชัดเจนตายตัว คณะกรรมการจึงต้องออกแนวทางพิจารณาแต่ละเรื่อง (guideline) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ

ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้ออกแนวทางพิจารณาเรื่องปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าแรกเข้าค่าวางสินค้า ค่าส่งเสริมการขาย ฯลฯ จากผู้ผลิตสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ช่วยให้ผู้ผลิตสินค้าที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายมากขึ้น

การฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นความผิดทางอาญา มีทั้งโทษจำคุก โทษปรับทางอาญา และโทษปรับทางปกครอง โดยโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่ทำความผิด เป็นโทษที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับกฎหมายอื่น ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจ ต้องติดตามแนวปฏิบัติของคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ยาวิเศษจะช่วยแก้ไขปัญหาการแข่งขันทางการค้าได้ทั้งหมด ในส่วนภาครัฐเองต้องลดกฎ ระเบียบ และอุปสรรคทางการค้า เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าสู่การค้าการแข่งขันได้ง่าย ส่วนภาคเอกชนเองก็ต้องตระหนักถึงจริยธรรมทางการค้า เพราะในความเป็นจริงแล้ว การแข่งขันทางการค้าที่ขาดจริยธรรมจะส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะรุนแรงมากกว่าบทลงโทษทางกฎหมาย