แบน “พาราควอต” ยังล่องลอยอยู่ในอากาศ

Photo by Chaiwat Subprasom/NurPhoto via Getty Images

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ยังคงเป็นความสับสนวุ่นวายในกรณีของการ “แบน” 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” หลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อความเห็นในภาคราชการด้วยกันเองแตกออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ พวกที่สนับสนุนขยายเวลาการแบน 3 สารเคมีออกไปว่า ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบไปแล้วกับพวกที่สนับสนุนให้มีการแบน เห็นว่า การประชุมในวันนั้นไม่มีมติหรือเป็นมติที่ไม่สมบูรณ์

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวว่า ปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นผู้เสนอให้คณะกรรมการพิจารณา “ทบทวน” มติที่ให้แบน 3 สารเคมี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม จากการยกระดับให้สารเคมีทั้ง 3 จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้-ห้ามผลิต-ห้ามจำหน่าย-ห้ามนำเข้า/ส่งออก และห้ามมีไว้ในครอบครอง โดยตั้งใจจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่หลังจากพิจารณา “ข้อเสนอทบทวน” ของปลัดกระทรวงเกษตรฯแล้วอ้างว่า ที่ประชุมมีมติให้ขยายระยะเวลาการแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ออกไป 6 เดือน จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563

ส่วนไกลโฟเซตนั้นให้ใช้ “มาตรการจำกัดการใช้” ซึ่งหมายถึง ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต ส่งผลให้ไกลโฟเซตมีสถานะกลับไปก่อนวันที่ 22 ตุลาคม 2562 นั่นก็คือ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 สามารถผลิต-จำหน่าย-นำเข้า-ส่งออก-มีไว้ในครอบครองได้ เพียงแต่ตัวผู้ใช้ คือ ตัวเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการอบรม

กลายเป็นการถกเถียงกันในเรื่อง “เทคนิค” ในทางปฏิบัติว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายถูกต้องหรือไม่ โดยเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันมติคณะกรรมการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายจากเหตุผลที่ว่า การลงมติมีได้หลายรูปแบบ และมีการตรวจสอบองค์ประชุมตั้งแต่ต้น สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาและพร้อมที่จะใช้ความเห็นนี้ “หักล้าง” ความเห็นของฝ่ายสนับสนุนการแบนที่ว่า ในที่ประชุมไม่มีการขอมติเป็นรายบุคคล และไม่มีการตรวจนับองค์ประชุมขณะลงมติ

สุดท้ายการถกเถียงจากความเห็นที่แตกออกเป็น 2 ฝ่ายก็จบลงตรงที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. ซึ่งยังคงกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร แสดงท่าทีให้กรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 22 ตุลาคมต่อไปก่อน เพราะว่า “มติ (คณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 พ.ย.) หรือหนังสือสั่งการจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้สั่งมาถึงเราว่ามีแนวทางแบบไหน”

ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนของการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ความเห็นชอบร่างประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 แล้วจึงเสนอต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่กระบวนการจะเสร็จสิ้น”

ด้านเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ประกาศจะดำเนินการฟ้องศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตฯต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ดำเนินการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 “โดยมิชอบ” และตั้งข้อสังเกตว่า กระทั่งบัดนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยังไม่ยอมออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

เท่ากับมติการแบน 3 สารเคมีอันตรายไปจนกระทั่งมติขยายระยะเวลาการแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ในสถานะปัจจุบันไม่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น “ล้วนล่องลอยอยู่ในอากาศ”