เร่งแก้ล็อก…ปมดอกเบี้ยนโยบาย

บทบรรณาธิการ


แม้ไม่ถึงขั้นศึกวิวาทะ แต่สาธารณชนพอรับรู้ได้ว่า กระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมุมมองที่แตกต่างประเด็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะขณะที่กระทรวงการคลังต้องการให้ ธปท.ปรับลดดอกเบี้ย เพื่อสปีดเศรษฐกิจที่กำลังโตให้ขยายตัวมากขึ้น ธปท. กลับเห็นไปอีกทาง ดังนั้นโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกคงไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% ต่อปีน่าจะมีสูง

กำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 ก.ย. 2560 ยิ่งใกล้เข้ามา จึงยิ่งถูกจับตามองว่าแรงกดดันจากการส่งสัญญาณชัดเจนของ รมว.คลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กับปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ จะมีผลต่อการตัดสินใจของ กนง.มากน้อยแค่ไหน ธปท.จะเร่งเครื่องนโยบายการเงินเสริมนโยบายการคลัง เพื่อหนุนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาค่าบาทแข็งตามข้อเรียกร้องหรือไม่

ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท. นายวิรไท สันติประภพ กับรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ยังยืนยันหลักการเดิม การตัดสินใจดำเนินนโยบายทางการเงินของ กนง.จะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมโดบรอบด้าน ให้น้ำหนักทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศ เศรษฐกิจภายในประเทศ เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ความมีเสถียรภาพทางการเงิน ฯลฯ

พร้อมชี้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะผ่อนคลายของ ธปท.เวลานี้ เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่แล้ว และย้ำว่าเงินบาทแข็งค่ามาจากหลายปัจจัยไม่ใช่แค่ดอกเบี้ย เช่นเดียวกับเงินทุนไหลเข้า ที่ปัจจัยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอาจมีผลเพียงส่วนหนึ่ง

บทสรุปสุดท้ายดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ในระดับเท่าใดถือว่าเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังตั้งคำถามและต้องการคำตอบ กระทรวงการคลัง กับ ธปท.จึงน่าจะใช้ช่วงเวลานี้แปรวิกฤตเป็นโอกาส พลิกมุมมองที่แตกต่างให้ได้แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ขยายตัวเติบโตได้ตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

ควบคู่กับช่วยแก้ไขปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน เงินร้อนไหลเข้า ลดผลกระทบภาคส่งออก ธุรกิจเอสเอ็มอี การเก็งกำไรค่าเงิน ฯลฯ โดยดำเนินนโยบายการเงิน การคลังให้เอื้อต่อกัน นำมาซึ่งความมีเสถียรภาพ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

แทนที่จะยึดมั่นในหลักการของตน หรือดำเนินนโยบายในลักษณะต่างคนต่างทำ โดยไม่ยอมรับฟังเหตุผลข้อเท็จจริง ซึ่งเสี่ยงจะขยายปมให้เกิดความขัดแย้ง กระทรวงการคลัง กับ ธปท.อาจต้องใช้ทางสายกลาง เดินหน้าภารกิจตามบทบาทหน้าที่ และเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ ให้ได้ทางเลือกที่ดีกว่า เศรษฐกิจจะได้ไม่ถูกกระทบ จนทำให้ส่วนรวมกับประเทศชาติเสียหาย