ทุกข์ของ “เกรย์มาร์เก็ต”

คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ
โดย อมร พวงงาม

ช่วง 2-3 ปีมานี้ หลายคนคงได้เห็นการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ดิ้นรนของบรรดาผู้ค้ารถยนต์อิสระ หรือที่ชาวบ้านชาวช่องทั่วไปเรียกว่า “เกรย์มาร์เก็ต”

ส่วนสาเหตุก็มาจากธุรกิจผู้นำเข้าทำงานเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานดังนั้นพอมีนโยบายอะไรเปลี่ยนแปลง อดไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบเพียงแต่ระยะหลังหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต่างจากพายุฝนในช่วงนี้ที่กระหน่ำแบบไม่ลืมหูลืมตา

จนล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ซึ่งรวมตัวกันมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว เกิดอาการ “ฟิวส์ขาด” ทำเอกสารยื่นฟ้องศาลปกครอง ขอให้ระงับคำสั่งการประเมินราคารถนำเข้าจากยุโรป ซึ่งระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเหตุให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว เกรงว่าผลที่จะตามมาคือ ลูกค้าที่สั่งซื้อรถจะทิ้งรถแล้วพันเป็นลูกโซ่ จนทำให้ธุรกิจถึงกับล่มสลาย

ไม่บ่อยที่จะเห็นพ่อค้าไปมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่รัฐ สุภาษิตจีนบอกไว้ มีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล กินขี้หมาดีกว่า แต่เที่ยวนี้ท่าทางคงเหลืออด

“สมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส” นายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ เล่าให้ฟังถึงทุกข์ของเกรย์มาร์เก็ตว่า กระทบมาพักใหญ่แล้ว ย้อนหลังไปสัก 2 ปี ตอนนั้นถือว่าหนักมาก ระเบียบใหม่ของ สมอ. บังคับตรวจรถนำเข้าทุกคัน ถ้าไม่ผ่านออกรถไม่ได้แถมเสียค่าตรวจแพงด้วยเครื่ิองยนต์เบนซินเกือบ 8 หมื่นบาท ส่วนดีเซลราว ๆ 5 หมื่น ใช้เวลาตรวจหลายเดือนซะด้วย

ตอนนั้นแทบไม่มีรถขายกันเลย หลุดจาก สมอ.มาไม่เท่าไหร่เจออีก ทีนี้หนักเลยตัวแทนจำหน่ายโดยตรง หรือที่กรมศุลฯเรียกว่า ดีลเลอร์ถล่มราคากันแหลก ทั้งเบนซ์ บีเอ็มฯ ฯลฯ ขายกันต่ำมากแถมส่งรถเร็วขึ้น

เราสู้ไม่ไหว…ก็ถอย เลิกทำรถยุโรปหันไปเน้นขายรถญี่ปุ่น

ยังไม่พอที่ฮือฮาสุด ๆ ก็คือดีเอสไอ บุกอายัดรถซูเปอร์คาร์สำแดงต่ำ เมื่อ 2-3 เดือนก่อน เคสนี้สั่นสะเทือนวงการรถนำเข้าพอสมควรเพราะข่าวแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาก และที่เลวร้ายคือมีรถขโมยจากอังกฤษมาผสมด้วยทำให้ความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้นำเข้าถูกบั่นทอนไปเยอะ

“ผมก็พยายามบอกบรรดาสมาชิกให้สู้มาถึงวันนี้ ผลกระทบจากนโยบายรัฐยังกระหน่ำเกรย์มาร์เก็ตไม่เลิก”

ล่าสุด กรมศุลกากรยังได้ปรับเปลี่ยนวิธีคำนวณ “ราคาประเมิน” รถนำเข้าสำเร็จรูปใหม่จากยุโรปอีกรอบ โดยออกประกาศเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ให้เจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยรถดำเนินการกับรถยนต์ 4 ยี่ห้อ เฟอร์รารี่, ลัมโบร์กินี, มาเซราติ และปอร์เช่ โดยให้ประเมินหักส่วนลดน้อยลงกว่าปกติและยี่ห้อที่กระทบหนักสุด ๆ ก็คือ “ปอร์เช่” ให้หักแค่ 5.94%

จากราคาหน้าเว็บไซต์ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่างจากของเดิมที่ 43.46% แค่แวตของเยอรมนี 19% เอามาคิดรวมด้วยก็แย่แล้ว ประกาศนี้ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายมาก ๆ

กรมศุลกากรไม่มีการแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า ทำให้รถยนต์ที่นำเข้ามาในช่วงนี้ ต้องเสียภาษีสูงขึ้นกว่าเท่าตัว

อย่าลืมว่าค้าขายรถ เราออร์เดอร์รถล่วงหน้ากันถึง 6 เดือนเจ้าหน้าที่รัฐจะปรับเปลี่ยนอะไรน่าจะมีการแจ้งล่วงหน้า การที่ราคารถขยับสูงขึ้นกว่าที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว คงมีลูกค้าหลายคนรับไม่ได้ สุดท้ายก็ทิ้งรถ เราเองก็คงไม่กล้าไปเอารถออกมาจากท่าเรือ สุดท้ายก็ต้องยอมขายขาดทุนไปยังประเทศอื่น

ปัญหาไม่ใช่แค่ขาดทุน อาจจะถึงกับเจ๊ง ทำธุรกิจกันต่อไม่ได้เลย

บรรดาสมาชิกจึงพร้อมใจกันมาพึ่งบารมีศาลปกครอง พิจารณาและมีคำสั่งให้ทางกรมศุลกากร ระงับการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการชั่วคราว  วันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า ศาลจะพิจารณาหรือไม่

นายสมศักดิ์ย้ำว่า ทุกข์ของเกรย์มาร์เก็ต ยังไม่หมดแค่นั้นกลางเดือนกันยายนนี้ กรมสรรพสามิตจะปรับวิธีจัดเก็บภาษีใหม่ โดยคิดจากราคาขายอัตราใหม่ยังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ คือ ต้องเสียสูงขึ้นลองคิดดูครับว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ จะกระทบต่อตลาดรถนำเข้าขนาดไหน

อัลพาร์ด เวลล์ไฟร์ ที่เคยขายกันอยู่ 4 ล้าน ถ้าขยับไปอยู่ที่ 5-6 ล้าน คงมีคนซื้อน้อยลง