เศรษฐกิจจีนยังน่าห่วง

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

นอกจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐกับจีนแล้ว อีกปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจโลกในปีหน้า คือ เศรษฐกิจจีน เพราะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ และหากวัดอำนาจซื้อ-(GDP at purchasing power parity) จีนจะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ

โดยเฉพาะยุโรป กลุ่มประเทศเอเชีย (ที่ส่งออกสินค้าทั้งสินค้าขั้นกลางและสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังประเทศจีน) นอกจากนี้ จีนยังมีบทบาทสำคัญ คือ

1.เป็นผู้บริโภครายใหญ่ของสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ซีเมนต์ อะลูมิเนียม นิกเกิล ถ่านหิน เหล็ก ทองแดง

2.เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยมีมูลค่าการลงทุน 143,000 ล้านเหรียญ ในปี 2018 รองจากญี่ปุ่น

3.นักท่องเที่ยวชาวจีนมีจำนวนสูงสุดในโลก 143 ล้านคน (2017) รองลงมา เยอรมนี 92 ล้านคน สหรัฐ 87.8 ล้านคน

ผลจากการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลก และการขึ้นภาษีของสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากในปีนี้ โดยเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 ขยายตัวลดลงเหลือ 6% เป็นการขยายตัวต่ำสุด ในรอบ 30 ปี (เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนตั้งแต่ปี 2012 โดยขยายตัว 7.9% ลดลงจาก 9-10% ช่วง 10 ปีก่อนหน้า และขยายตัวเพียง 6.6% ในปี 2018) และทั้งปีน่าจะขยายตัว 6.1-6.2% (เป้าหมายของรัฐบาล 6-6.5%)

การชะลอตัวเห็นได้ชัดเจนจากภาคการผลิตที่หดตัว การลงทุนในประเทศขยายตัวลดลง ยอดขายรถยนต์หดตัว และกำไรของภาคธุรกิจติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน แม้ดัชนีภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน (ดัชนี PMI ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.2 จากที่ต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องถึง 7 เดือน ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจหดตัว สูงกว่า 50 ขยายตัว) อาจจะเร็วเกินไปที่จะมองว่าเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยคาดว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 6% ในปี 2020 ปัญหาเศรษฐกิจที่มีในระยะข้างหน้า คือ

1.ปัญหาความขัดแย้งทางการค้ายังมีความไม่แน่นอน ประกอบกับผลกระทบของการขึ้นภาษีของสหรัฐยังจะมีต่อเนื่องในปี 2020 หากสหรัฐเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติมในส่วนที่เหลืออีก 1.56 แสนล้านเหรียญ ที่จะมีผลในกลางเดือนธันวาคมนี้ จะมีผลให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการส่งออกและภาคการผลิตยังคงอ่อนแรง

2. แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีการดำเนินมาตรการผ่อนคลายและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน (ปรับลดการตั้งสำรองของธนาคาร ลดดอกเบี้ย) นโยบายการคลัง (ลดภาษี ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน) เพราะต้องการปรับสมดุลเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสะสมช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 คือ การลงทุนเกินตัวและการก่อหนี้ของธุรกิจและรัฐบาลท้องถิ่น ฟองสบู่อสังหาฯเพราะปัญหาสะสมดังกล่าวก่อให้เกิดความเปราะบางในระบบการเงิน (ทำให้เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญความเสี่ยง เงินทุนไหลออก และความผันผวนของค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา) ดูเหมือนว่า รัฐบาลจีนระมัดระวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากกระตุ้นมากไปจะสร้างฟองสบู่และปัญหาเพิ่มเติมให้กับเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้มีความเสี่ยงว่าจะกระตุ้นน้อยไปจนทำให้เศรษฐกิจชะลอมากเกินไปก็ได้

3.ความเปราะบางของภาคธนาคาร ผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความเข้มงวดของธนาคารกลาง จะทำให้สถาบันการเงินต้องระมัดระวังการปล่อยกู้ หมายความว่า การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งน่าจะส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ การลงทุน และการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2020

ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนประเมินสถานะของภาคธนาคาร พบว่า -มีสถาบันการเงิน 586 แห่ง (จากทั้งหมด 4,379 แห่ง) หรือ 13.4% ที่มีความเสี่ยงสูง (เพิ่มขึ้นจาก 506 แห่ง ในไตรมาส 1 ปี 2018) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก โดยหากวัดในเชิงของสินทรัพย์ น่าจะมีประมาณ 3% ของทั้งระบบ

-การทดสอบ street test ธนาคารขนาดกลางและใหญ่ 30 แห่งพบว่า ในกรณีฐาน (จีดีพีโต 5.3%) มี 9 แห่งที่ทุนไม่พอ และในกรณีเลวร้าย (จีดีพีโต 4.15%) มี 17 แห่งที่ต้องเพิ่มทุน

-การทดสอบสภาพคล่องของธนาคาร 1,171 แห่ง กรณีฐานไม่ผ่านเกณฑ์ 90 แห่ง และกรณีเลวร้ายไม่ผ่านเกณฑ์ 159 แห่ง

-สถาบันการเงินบางแห่งถูกประเมินให้เพิ่มทุน ลดหนี้เสีย ถูกจำกัดการจ่ายเงินปันผล และเปลี่ยนผู้บริหาร

4.การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ในปี 2018 มีพันธบัตรที่ผิดนัดชำระหนี้ (bond default) 121,900 ล้านหยวน และในปี 2019 (ข้อมูลถึงต้นเดือนพฤศจิกายน) ผิดนัดชำระหนี้อีก 120,000 ล้านหยวน แม้ว่ามูลค่าพันธบัตรที่ผิดนัดชำระหนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับมูลค่าพันธบัตรทั้งหมดที่ 4.1 ล้านล้านหยวน แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 20,000 ล้านหยวน

ในปี 2016-2017ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาความอ่อนแอของภาคธุรกิจเอกชน (อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เหล็ก พลังงาน และซอฟต์แวร์) และรัฐบาลท้องถิ่น ภาครัฐเองระยะหลังก็ไม่เข้ามา คุ้มครองผู้ปล่อยกู้เหมือนในอดีต ทำให้ผู้ปล่อยกู้ต้องรับผิดชอบความเสียหายด้วย

ดังนั้น ความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ จึงทำให้ธุรกิจหาแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น จากระดับหนี้ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 160% ของจีดีพี และภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ทำให้กำไรของธุรกิจต่าง ๆ ลดลง จึงเป็นไปได้ว่าการผิดนัดชำระหนี้จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง