เศรษฐกิจไม่ได้ถดถอย… แค่เดินถอยหลัง

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

แม้ว่านายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกมายืนยันว่า “เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ถดถอย แค่เติบโตช้า” พร้อมแสดงความมั่นใจแบบว่า ปีหน้ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เกิน 3% เพราะจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐออกมาดูแลในปีนี้

แต่ด้วยสัญญาณเศรษฐกิจเกือบทุกตัวที่อยู่ในทิศทาง “ขาลง” ทั้งบรรยากาศการค้าขายของหลายธุรกิจที่ซบเซา แม้กระทั่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ผ่านมากไม่สวย รายได้ลดลง 6.1% และกำไรจากการดำเนินงานลดถึง 28.9%

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังเดินเข้าสู่โซนอันตรายมากขึ้น เห็นได้ชัดจากที่รัฐบาลระดมออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจ เกือบทุกสัปดาห์ต่อเนื่องมาหลายเดือน เรียกว่าสาดกระสุนไปทั่ว โดนบ้างไม่โดนบ้าง ทั้งระดับประชาชนฐานราก ชนชั้นกลาง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
อสังหาฯ หลังจากโดนพิษแอลทีวีฟาดหาง

ล่าสุดยังเตรียมออกมาตรการช่วย “ลูกหนี้บัตรเครดิต” ประวัติดีอีกลอตใหญ่กว่า 1 แสนราย ได้สิทธิรีไฟแนนซ์ “ลดดอกเบี้ย-ยืดชำระหนี้ยาวขึ้น” เพราะเห็นสัญญาณไม่ดี ต้องรีบอุ้มไม่ปล่อยให้เป็น “หนี้เสีย” และอีกหลายมาตรการที่จะออกมาช่วยลดภาระหนี้ และลดค่าครองชีพ

เพราะ “อาการ” ทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณออกมาด้วยตัวเลข “หนี้เสีย” ของแบงก์ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแบบไหลไม่หยุด และไตรมาส 3/62 หนี้เสียเพิ่มขึ้นทะลุ 1.05 แสนล้านบาท ถือเป็นตัวเลขหนี้เสียรายไตรมาสที่สูงสุดในรอบนับสิบปี และเป็นหนี้เสียหน้าใหม่กว่า 7 หมื่นล้านบาท

รวมทั้ง “อัตราการว่างงาน” ที่ขยับขึ้นเช่นกัน โดยสภาพัฒน์รายงานว่า ไตรมาส 3/2562 อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.04% หรือ 3.94 แสนคน และเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา อัตราผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.1% ด้วยจำนวน 4.29 แสนคน ไม่เฉพาะอัตราว่างงานที่ขยับเพิ่มขึ้น เพราะยังมีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่แม้จะ “ไม่ตกงาน” แต่ก็เผชิญปัญหา “รายได้ที่ลดลง”

เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ การค้าโลกชะลอตัว ทำให้ยอดส่งออกติดลบ ทั้งกำลังซื้อในประเทศลดลงด้วย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ทั้งค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ต้องลดการทำงานล่วงเวลา (โอที)

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ประกอบการที่ขอใช้สิทธิมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ (หยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้าง 75%) เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีบริษัทใช้สิทธิ์มาตรา 75 ถึง 93 แห่ง แรงงานที่ได้รับผลกระทบ 48,015 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/62 มีบริษัทใช้สิทธิ์ 50 แห่ง และไตรมาส 1 มีจำนวน 47 แห่ง

นี่คือภาพสะท้อนเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแรงลง

ขณะที่ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ยังถีบตัวสูงขึ้น ณ ไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 13.08 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อจีดีพี ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ และหนี้ กยศ. ขณะที่

หลาย ๆ มาตรการรัฐก็เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้นด้วย

ถือเป็นจุดเปราะบางของครัวเรือนไทย โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายกังวลว่า “เป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค” และเมื่อภาระหนี้สูงขึ้น ๆ ทำให้ความสามารถในการก่อหนี้ลดลง

ขณะที่ความสามารถในการสร้างรายได้ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนทุกคนว่า ต้องไม่ประมาท เพราะเราอาจกำลังเดินถอยหลัง แม้ว่ารัฐจะออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยพยุงตัวเลขเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ก็เป็นแคมเปญ “ลด-แลก-แจก-แถม” ที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายแบบชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งโอกาสที่จะกระตุกให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจติดคงลำบาก

ตราบเท่าที่การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนยังไม่เกิดขึ้นจริง