“แผนควิกวิน” แก้แล้งตะวันออก 6 เดือนไม่รอด งัดไม้ตาย “น้ำก้นอ่าง”

สถานการณ์น้ำแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ยังคงอยู่ในภาวะ “น่าห่วง” โดยปัจจุบันภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 859 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 53% ของความจุอ่าง ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 55 แห่ง มีปริมาณน้ำ 626 ล้าน ลบ.ม. หรือ 66% ของความจุอ่าง ส่วนน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ 30-50% ของลำน้ำ

กรมชลประทาน ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงได้จัดประชุมประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงาน และภาคเอกชนผู้ใช้ในน้ำพื้้นที่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยสรุปปริมาณความต้องการใช้น้ำว่า จะมี “เพียงพอ” สำหรับใช้ไปจนถึงฤดูแล้งปี 2563 และยังเหลือน้ำต้นทุน 5.7 ล้าน ลบ.ม.

นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวว่าจากการประเมินสถานการณ์ปัญหาคาดการณ์พบว่า ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราลดลง โดยขณะนี้ยอมรับว่าปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 50% เท่านั้น แต่มั่นใจว่ายังมีเพียงพอถึงสิ้นฤดูแล้ง 30 มิ.ย. 63 เนื่องจาก จ.ระยอง รายงานว่า ปริมาณน้ำ 3 อ่างลดลง 8.1 ล้าน ลบ.ม. แย่กว่าแผน 0.6 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำสูบผันจากอ่างประแสร์ จึงคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพียงพอสิ้นฤดูแล้งเหลือน้ำใช้การ5.7 ล้าน ลบ.ม.

ส่วน จ.ชลบุรี อ่างบางพระ และหนองค้อ ปริมาณน้ำลดลง 2.3 ล้าน ลบ.ม. แย่กว่าแผน 0.4 ล้าน ลบ.ม. โดยหยุดการสูบผันน้ำบางปะกง-บางพระ เนื่องจากความเค็มรุกตัวถึงจุดสูบ แต่คาดการณ์ถึงสิ้นฤดูแล้ง เหลือน้ำใช้การ 6.2 ล้าน ลบ.ม. และ จ.ฉะเชิงเทรา ปริมาณน้ำใช้การ 111.7 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ หากมองแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/2563 พื้นที่ภาคตะวันออก รวม 1,540 ล้าน ลบ.ม. ได้ถูกจัดสรรเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 146 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 9% ของแผนฯ ด้านการเกษตร 722 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของแผนฯ ด้านการรักษาระบบนิเวศ 271 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 18% ของแผนฯ ด้านอุตสาหกรรม 173 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 11% ของแผนฯ และด้านอื่น ๆ 227 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 15% ของแผนฯ โดยปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 328 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือ 1,200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 78% ของแผนฯ ซึ่งเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้

อย่างไรก็ตาม การแบ่งน้ำทุกภาคต้องประเมินอย่าง “รัดกุม” ขึ้น เพราะหากประเมินฤดูแล้งปี 2562/2563 มีแผนการจัดสรรน้ำรวมประมาณ 257 ล้าน ลบ.ม. ยังถือว่า “ต่ำ” หากเทียบกับปีก่อนที่มีผลการจัดสรรน้ำประมาณ 448 ล้าน ลบ.ม.

ลุยแผนควิกวิน

สรุปภาพรวมปีนี้ จะเห็นว่าการขยายตัวอุตสาหกรรมไม่มากนัก จึงมั่นใจว่ามีเพียงพอ แต่ต้องวางแผนเพื่อรองรับอีอีซีในอนาคต โดยจะเร่งรัด “แผนควิกวิน” ประกอบด้วย 1.เร่งรัดคลองพระยาไชยานุชิต คาดว่าจะเเล้วเสร็จ 15 ก.พ. พร้อมสูบ เพื่อมาเติมเต็ม จ.ชลบุรี 1.ของบฯ 400 ล้านบาท มาเร่งวางท่อ 2.เร่งรัดโครงการแผนเพิ่มแหล่งน้ำ จ.จันทบุรี โดยเฉพาะ “คลองวังโตนด” และลุ่มน้ำจันทบุรี ที่ปัจจุบันยังติดปัญหาอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ดังนั้น ต้องเตรียมการเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน หากมีการคาดการณ์ว่า มิ.ย.จะไม่เพียงพอ คือนำแผนสุดท้าย คือ “เดดสตอเรจ” (น้ำก้นอ่าง) มาใช้กรณีวิกฤต ซึ่งปีนี้อีสท์ วอเตอร์ จึงมีแหล่งน้ำดิบในมือเตรียมรองรับ 20 ล้าน ลบ.ม. เพื่อป้อนให้กับระยองพัฒนาอีก 12 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนอีอีซี ระยะ 7 ปี มีความต้องการ 700 ล้าน ลบ.ม. ยังเพียงพอ โดยจันทบุรี 100 ล้าน ลบ.ม. ระยอง 150 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มความจุ 102 ล้าน ลบ.ม. และคลองต่าง ๆ คาดว่าเกิน 250 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับเพิ่มความจุน้ำ ประกอบด้วย เสริมสปริงเวย์ 7 แห่ง (แผนงาน 2562-2569) กรมชลประทานจะเร่งรัดเร็วขึ้น ปี 2565 รวมทั้งล่าสุดที่รัฐบาลเร่งรัด

“ยอมรับว่าภาคตะวันออกปีนี้น้ำน้อย ฉะเชิงเทราค่อนข้างน่าเป็นห่วงกรณีภาคเกษตร และฉะเชิงเทราเกิดปัญหาน้ำเค็ม ส่งผลให้คลองสียัดมีน้ำเหลือเพียง 30% เราจึงขอให้ชาวนางดทำนาปรัง แต่ยังมีความเสี่ยง เพราะเดือน ก.พ. 63 จะทำอะไรไม่ได้ หากยังเป็นเช่นนี้ ส่วนคลองพานทองจะเติมน้ำ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร สูบลงคลองบางพระได้ ดังนั้น ชลบุรียังเพียงพอ รวมถึงระยองกังวลว่าประแสร์น้ำน้อย ก็ยังเพียงพอเช่นกัน”

นอกจากนี้ เรามีแผนสร้างแหล่งน้ำใหม่เพิ่ม 4 แห่งคือ ประแกด พะวาใหญ่ คลองหางแมว และคลองวังโตนด ต้องเร่งรัดศึกษา EIA จะได้อีก 100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งรายงานศึกษาผลกระทบอยู่ระหว่างแก้ไขรอบที่ 4 แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามผลักดัน หากสำเร็จจะเป็นเรื่องที่ดีมาก

เอกชนรายงานแผนน้ำ

พร้อมกันนี้ เอกชนได้รายงานสถานการณ์เบื้องต้น ตัวแทนบริษัท อีสท์ วอเตอร์ (EW) กล่าวว่า อยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมท่อหนองปลาไหล และจัดหาบ่อน้ำ ปริมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างวางแนวท่อ คาดว่าจะผันน้ำได้ในช่วง มิ.ย.

ขณะที่ บ.โกลบอล ยูนิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด รายงานว่า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีปริมาณน้ำเหลือ 800,000 คิว แต่การนิคมฯมีช่วงชัตดาวน์อยู่จึงใช้น้ำน้อย บริษัทไม่นิ่งนอนใจ ขอให้หลายโรงงานลดการใช้น้ำลง เช่นเดียวกับบริษัท ไทยออยล์ รายงานว่า ลดการพึ่งพาน้ำบางพระ และ บ.ไออาร์พีซีระบุ ปัจจุบันควบคุมการใช้น้ำตามการประเมินของกรมชลประทาน เช่นเดียวกันกับสถาบันน้ำฯ ส.อ.ท.ก็ขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

จี้รัฐลงทุนจริงจังแก้แล้ง

นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีเพิ่มขึ้น จึงกังวลว่าปีนี้จะไม่เพียงพอถึงเดือนเมษายน อาจเกิดวิกฤต แต่ต้องมองวิกฤตเป็นโอกาส เร่งเพิ่มอ่างขนาดเล็กอีก 2 ล้าน ลบ.ม. ป้อนอีอีซีได้ด้วย ส่วนแผนระยะยาว จ.จันทบุรี มีแหล่งวังโตนดตอบโจทย์ แต่ขณะนี้ยังล่าช้า ดังนั้นต้องเร่งเส้นท่อคลองใหญ่ลงคลองบ้านค่าย และขอให้ศึกษาเรื่องการกระจายน้ำจากอ่างประแสร์ เพื่อลดความสูญเสียน้ำ

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ระยองจะเป็นวอร์นนิ่งให้รัฐบาลมองว่า อีอีซีจะเกิดแต่ไม่มีงบประมาณให้ จะของบฯจากส่วนกลางมาผลักดัน แต่ขาดเส้นท่อ ดังนั้น เราพยายามแก้ไขร่วมกัน ตอนนี้ภัยแล้งนอกเขตชลประทาน หน่วยงานใดจะรับผิดชอบยังขาดการบูรณาการ ซึ่ง จ.ระยอง เช่น หนองปลาไหล นอกเขตชาวบ้านยังใช้น้ำไม่ได้”

ตัวแทนเกษตรกรกล่าวว่า การที่กรมชลฯอนุญาตให้สูบน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์สำหรับพื้นที่เกษตรได้ หลังจากวันที่ 10 ม.ค. 2563 จะส่งผลกระทบให้สวนทุเรียนเสียหาย ขอภาครัฐต้องพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มากขึ้น