ประเมินการกินอาหารแบบคีโต จำกัดการกินอาหารประเภทแป้ง

คอลัมน์ Healthy aging

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจ (task force) ของ National Lipid Association ของสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับผลการประเมินทางวิชาการว่าด้วยข้อดี-ข้อเสียของการกินอาหารแบบ ketonic (หรือที่เรียกกันว่า คีโต) คือการกินอาหารที่จำกัดปริมาณการกินอาหารประเภทแป้ง (low-carbohydrate diet) และการจำกัดการกินอาหารประเภทแป้งอย่างมาก (very low-carbohydrate diet) ซึ่งรวมถึงการกินอาหารแบบคีโต ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะดูเหมือนว่าแนวคิดเกี่ยวกับการจำกัดอาหารประเภทแป้งกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น

แต่ข่าวร้ายสำหรับผู้ที่คิดจะอาศัยแนวทางนี้เพื่อลดความอ้วน และเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี คือข้อสรุปของคณะผู้เชี่ยวชาญที่กล่าวว่า การจำกัดการกินแป้ง หรือจำกัดการกินแป้งอย่างมากไม่ได้ช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากกว่าวิธีการอื่น ๆ ส่วนประโยชน์ต่อสุขภาพนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ ช่วยลดความอยากกินอาหาร ช่วยลดไขมัน triglyceride และช่วยควบคุมระดับน้ำตาล ทำให้สามารถลดการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน

แต่ประเด็นสำคัญ คือ จากการประเมินผลงานวิจัยทางวิชาการที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การกินอาหารโดยการจำกัดอาหารประเภทแป้งนั้น จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ในระยะยาว

นอกจากนั้น หลักฐานทางวิชาการก็ยังสับสนและไม่ชัดเจนว่า การกินอาหารในลักษณะนี้ช่วยลดหรือเพิ่มปริมาณไขมันไม่ดี (LDL) และไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าการกินอาหารในลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ หรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน (no clear evidence of advantages for other cardiometabolic risk markers)

การกินอาหารที่จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารประเภทแป้งลงอย่างมากนั้น แปลว่าต้องกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก หมายถึงการเพิ่มการบริโภคไขมันมาทดแทนในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งการกินอาหารในลักษณะปกติ เปรียบเทียบกับการกินอาหารโดยจำกัดคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารประเภทแป้ง และการกินอาหารแบบคีโตนั้นมีความแตกต่างกันตามรายละเอียดในตาราง

ผู้ที่นิยมการลดความอ้วนแบบคีโตจะแนะนำว่า การกินอาหารประเภทไขมันเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะการลดปริมาณของแป้งทำให้ร่ายกายเผาผลาญพลังงานที่ใช้ได้ง่าย คือ glycogen หรือน้ำตาล (glucose) ออกไปจนหมด ทำให้ร่างกายถูกบังคับให้สกัดเอาพลังงานจากไขมันหรือเข้าสู่สภาวะ ketosis ซึ่งเป็นระบบเผาผลาญพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น แม้ว่าจะกินไขมันเพิ่มขึ้นเพียงใด น้ำหนักตัวก็จะลดลงอย่างฮวบฮาบ และปริมาณไขมันในร่างกายก็จะลดลงไปด้วย นอกจากนั้น จะยังมีผลพลอยได้จากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างมากอีกด้วย แต่หากดูจากผลการประเมินงานวิจัยที่มีอยู่จนกระทั่งเดือนกันยายน 2019 นั้น คณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจของสมาคม National Lipid Association จะสรุปว่าหลักฐานทางวิชาการนั้นพบว่าน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจริง แต่หลักฐานเกี่ยวกับการลดลงของไขมันและความปลอดภัยในระยะยาวยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ เพราะงานวิจัยนั้นเป็นเพียงการวิจัยผลในระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี (งานวิจัยระยะยาวยังไม่มี) นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจก็ยังตั้งข้อสังเกตว่า การกินอาหารแบบคีโตนั้นน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และที่สำคัญคือ มิได้ช่วยลดน้ำหนักตัวได้ดีไปกว่าวิธีลดความอ้วนประเภทอื่น ๆ กล่าวคือ การกินแบบคีโตนั้นอาจจะทำได้ในช่วง 3-6 เดือนแรก แต่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะทำได้ค่อนข้างยาก

ดังนั้น งานวิจัยบางชิ้นจึงรายงานผลว่ามีผู้เลิกล้มการกินอาหารประเภทคีโต (attrition rate) มากถึง 30% ก็มีข้อสังเกตว่าการลดน้ำหนักอย่างมากเบื้องต้นนั้น น่าจะเกิดขึ้นจากการสูญเสียน้ำในร่างกายเป็นประเด็นสำคัญ (the initial weight loss that occurs is primarily due to loss of body water)

ผู้ที่ต้องการอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวพร้อมกับรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมากมาย สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของ Journal of Clinical Lipidology (lipid journal.com) ซึ่งตีพิมพ์แถลงการณ์ดังกล่าวลงวันที่ 13 กันยายน 2019 หรือจะอ่านคำอธิบายของ National Lipid Association ที่ lipid.org ลงวันที่ 14 กันยายน 2019 ก็ได้

ซึ่งมีข้อสรุปและข้อเสนอแนะว่า ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิต (life style) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ การกินอาหารที่ปกป้องหัวใจและระบบไหลเวียนของเลือด (cardioprotective eating pattern) อย่างเป็นประจำและยั่งยืน ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง

ในความเห็นของผมนั้น รู้สึกว่าการเพิ่มการกินอาหารประเภทไขมันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะการกินไขมันที่มาจากสัตว์ ไม่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับร่างกาย นอกจากนั้น อาหารบางประเภทที่มีใยอาหารและวิตามินสูง เช่น แครอต ฟักทอง และข้าวโอ๊ตนั้น แม้จะมีแคลอรีอยู่บ้างแต่ก็ให้ประโยชน์กับร่างกายในด้านอื่น ๆ ได้อย่างมาก

นอกจากนั้น งานวิจัยก่อนหน้านี้ 2 งานที่ผมเห็นว่ามีความน่าเชื่อถือทางวิชาการสูง ก็มีข้อสรุปที่ไม่เห็นด้วยกับการกินอาหารแบบคีโตเป็นประจำ ได้แก่

1.งานวิจัยของ Dr.Sara Seidelmann ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancent Public Health (9 กันยายน 2018) ติดตามชาวอเมริกันอายุ 45-65 ปี จำนวน 15,428 คน ในช่วงปี 1987-1989 โดยในช่วงเวลาศึกษาติดตามนั้นมีผู้เสียชีวิต 6,283 คน ซึ่งงานวิจัยพบว่าผู้ที่บริโภคแป้งน้อย (ต่ำกว่า 40%) และผู้ที่บริโภคแป้งมาก (มากกว่า 70%) เป็นสองกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่บริโภคแป้งเป็นปกติ (50-55%) ทั้งนี้ ผู้ที่บริโภคโปรตีนและไขมันจากพืชมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่บริโภคโปรตีนและไขมันจากสัตว์

2.งานวิจัยของ Prof. Marcie Banach ที่เสนอต่อการประชุม European Society of Cardiology เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2018 อาศัยข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพของประชากร 24,825 คน พบว่า คนที่กินแป้งน้อยมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน และโรคมะเร็งมากกว่าปกติ

ทั้งนี้ ผู้ที่กินแป้งน้อยและไม่เป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าคนที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน (ที่กินอาหารแบบปกติ) แต่การที่กินแป้งน้อยและเป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ใกล้เคียงกับคนที่มีน้ำหนักเกินเช่นเดียวกัน ซึ่งแปลได้ว่าร่างกายกินอาหารแบบคีโตนั้นไม่น่าจะช่วยให้คนที่เป็นโรคอ้วนมีอายุยืนมากขึ้นครับ