ภูมิคุ้มกัน ‘โชห่วยไทย’ (จบ) ปรับตัวอย่างไรในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

โชห่วย

คอลัมน์ช่วยกันคิด
สมฤทัย แสงทอง
มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

หรือจากการให้สัมภาษณ์ของผู้ประกอบการนย่านสำเพ็งโดยตรง กับทาง Workpoint NEWS ความว่า “รายได้ก่อนหน้าตกต่อเดือนถึง 3 แสนบาท เรียกได้ว่าธุรกิจรุ่งเรือง แต่ในช่วง 5 ปีหลัง รายได้
เหลือวันละไม่ถึงหมื่นบาท เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและร้านค้าออนไลน์” ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มผู้ค้ารายเล็กรายน้อย อย่างร้านโชห่วยที่เปิดให้บริการในชุมชนตามต่างจังหวัด ว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ disruptive technology ครั้งนี้มากน้อยเพียงใด

ดังเช่นสุภาษิตที่ว่า “Every coin has two sides” ซึ่งหมายความว่า ทุกเรื่องย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการร้านโชห่วย ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากเรามองในอีกแง่มุมหนึ่ง อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สำหรับการพลิกโฉมรูปแบบธุรกิจการค้าแบบเดิม ๆ ของร้านโชห่วย และเป็นการช่วยให้ร้านค้าเหล่านี้สามารถปรับตัวให้อยู่รอดภายใต้สภาวะการแข่งทางธุรกิจ
ในปัจจุบัน

ขณะนี้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้มีการจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบรรดา
ผู้ประกอบการร้านโชห่วย เช่น การจัดงานตลาดนัดโชห่วย 4.0 โดยบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในส่วนของภาครัฐได้มีการจัดทำ โครงการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า เป็นการปรับรูปแบบหน้าร้านให้ทันสมัยเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า หรือการปรับการจัดเรียงสินค้าภายในร้าน โดยแยกตามประเภทหมวดสินค้า ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการนำ โมเดล “โย๋ เล่อ” (Ule Model) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการค้าที่ช่วยเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าให้แก่ร้านขายของชำในชนบทของจีนมาปรับใช้ หรือโครงการโชห่วยออนไลน์

ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการค้าออนไลน์ระหว่างผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าโดยตรง (B2B) ซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือร้านโชห่วยในยุค digital economy แล้ว ยังถือเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในทางอ้อมอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งของบรรดาผู้ประกอบการร้านโชห่วยที่ยังคงทำการค้าในรูปแบบเดิม หรือยังไม่ได้นำประโยชน์จาก digital technology มาปรับใช้ในกิจการ อันดับแรก คือ ควรให้ความร่วมมือ เปิดใจ และยอมรับ ต่อรูปแบบของวิธีการค้าและการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

โดยต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบการค้าแบบเดิมที่เคยทำมา ในลำดับต่อมา ต้องไม่มองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ยากที่จะเรียนรู้หรือเข้าใจ หากพอท่านเปิดใจ ลบความกลัวหรืออคติเหล่านั้นออกไปได้แล้ว จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำพากิจการของท่านข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และกลายเป็นโชห่วยในยุค 4.0 ได้อย่างสวยงาม

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน บริบททางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมที่ต้องมีการพึ่งพาอาศัย แลกเปลี่ยน ทำกิจกรรมร่วมกัน จึงไม่อาจนิ่งเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

เช่นเดียวกับการปรับตัวเข้าสู่ยุค digital economy ในครั้งนี้ หากผู้ประกอบการร้านโชห่วยเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง และปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมแล้วนั้น ไม่ว่าจะเกิดการ disruptive อีกกี่ครั้ง ก็ไม่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของท่านแต่อย่างใด

จากการเกิด disruptive technology ในครั้งนี้เปรียบเสมือนเป็นการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่บรรดาผู้ประกอบการร้านโชห่วย สำหรับเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคต