ร่มเย็น : ร้านเคียงข้างแบงก์ชาติ เรียนรู้-พร้อมปรับตัวเสมอ

ค้าปลีก โชว์ห่วย ผู้บริโภค
News Illustrated : Photographer: Brent Lewin/Bloomberg via Getty Images

นอกรอบ

รณดล นุ่มนนท์

พวกเราคงจะคุ้นเคยกับตึกแถวที่เปิดเป็นร้านขายของที่ทอดยาวอยู่ทางฝั่งใต้สะพานพระรามแปด
แม้ว่าความคึกคักจะไม่เหมือนกับสมัยที่อาคารสำนักงานใหญ่แบงก์ชาติ และประตูเข้าออกอยู่ตรงนี้ และเหมือนกับบังคับให้พนักงานแบงก์ชาติต้องออกมาทานข้าวกลางวัน และซื้อของตามร้านรวงต่าง ๆ ตั้งแต่ร้านพี่เขียดขายน้ำส้ม ลุงเจิดขายส้มโอ ร้านแม่ลูกที่ขายของชำ ไปจนถึงร้านเสริมสวย ป.ปิ๊ก

แต่น้อยคนนักที่จะสังเกตเห็นว่ามีร้านรับเขียนภาพเหมือนชื่อร้านร่มเย็น แทรกตัวอยู่ในกลุ่มร้านเหล่านี้ เจ้าของร้านเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มแม่ค้า ที่เรียกกันติดปากว่า ป้าพงศ์ (เดิมชื่อพงศ์จันทร์) หรือ คุณนันทลักษณ์ สถิตานนท์

ป้าพงศ์เกิดเมื่อปี 2485 ปัจจุบันอายุ 77 ปี ถือได้ว่าเกิดปีเดียวกับแบงก์ชาติ ครอบครัวป้าพงศ์เป็นชาวมุสลิม คุณตาอพยพมาจากประเทศซีเรีย ซื้อที่ดินแถวเทเวศร์ทำกิจการค้าขายซุง อาศัยทำเลการขนส่งที่ล่องมาตามแม่น้ำ

ภายหลังคุณตาแบ่งที่ดินให้ลูก ๆ ทั้ง 5 คน รวมถึงคุณแม่ของป้าพงศ์ด้วย และต่อมาคุณแม่ได้ขอซื้อที่ดินจาก
พี่น้องสร้างตึกแถว 8 ห้อง จากแต่ก่อนที่เป็นบ้านไม้ เพื่อให้คนเช่าโดยใช้ชื่อตึกว่าตึกสถิตานนท์ 2497 และคุณแม่ได้แบ่งตึกแถว 8 ห้องให้เป็นมรดกแก่ลูก ๆ ทั้ง 8 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น (ป้าพงศ์เป็นลูกคนที่ 8 จากทั้งหมด 10 คน)

ป้าพงศ์เล่าว่า สมัยเด็ก ๆ ย่านนี้เงียบเหงา ไม่ค่อยมีผู้คนผ่านไปมา มีต้นโศกใหญ่เรียงรายเป็นแนว 2 ข้างถนน และต้องว่าจ้างคนตักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ ป้าพงศ์มักจะแอบไปเล่นรอบ ๆ วังบางขุนพรหม

ป้าพงศ์บอกว่า งานทำบุญประจำปีของวัดอินทรวิหารในช่วงต้นเดือน 4 (เดือนมีนาคม) จะยิ่งใหญ่มาก ทุก ๆ ปีจะมีผู้คนทั่วสารทิศมาทำบุญกราบไหว้หลวงพ่อโต ทำให้ย่านนี้เป็นที่รู้จักกันดี

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. 2475 ย่านนี้เงียบเหงา แต่กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งแบงก์ชาติย้ายที่ทำการมาอยู่ที่วังบางขุนพรหมเมื่อปี 2488 จากนั้นยิ่งมีความคึกคักมากขึ้น เมื่อพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังบางขุนพรหม ได้กลายมาเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 สถานีโทรทัศน์แห่งแรกเมืองไทย เมื่อปี 2496

รวมทั้งแบงก์ชาติได้เปิดอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ (อาคาร 2) เมื่อปี 2525 เนรมิตให้บริเวณนี้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ป้าพงศ์ต้องหยุดเรียนเมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพราะปัญหาสุขภาพ แต่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ทั้งงานการเรือนและงานฝีมือจากคุณแม่ และออกมาช่วยแม่หยิบจับช่วยเหลือทำงานทุกอย่าง ป้าพงศ์จึงมีทักษะความสามารถรอบด้าน

ป้าพงศ์บอกว่า ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยเรียนวาดรูปเป็นจริงเป็นจัง เพียงแค่ได้ฝึกฝนเพิ่มเทคนิคที่วิทยาลัยเพาะช่าง 6 เดือนเท่านั้น และได้กลายมาเป็นอาชีพของป้าพงศ์ในเวลาต่อมา

ป้าพงศ์ปรับการดำเนินชีวิตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงรอบรั้วแบงก์ชาติเริ่มแรกทำร้านเขียนแบบโฆษณา
เกือบ 10 ปี จากนั้นเปลี่ยนมาเปิดร้านอาหารขายข้าวแกงและข้าวต้ม ใช้ชื่อร้านร่มเย็น มีทั้งพนักงานแบงก์ชาติรวมถึงผู้บริหารมาใช้บริการค่อนข้างมาก เพราะร้านสะอาดน่านั่ง และมีแม่ค้าหาบเร่มาจับจองที่ขายของตามขอบรั้วแบงก์ชาติ

สมัยนั้นการค้าขายคึกคัก แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ป้าพงศ์ก็ต้องเปลี่ยนมาวาดรูปเป็นอาชีพหลัก นับเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ทั้งรับเขียนภาพเหมือน ภาพสี และขาว-ดำ รับแต่งถ่ายเก่าชำรุด ระบายสีภาพถ่ายขาว-ดำ และยังไม่หยุดเรียนรู้ฝึกฝนการใช้คอมพิวเตอร์ในการแต่งภาพทันตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย

ป้าพงศ์สังเกตว่าพนักงานแบงก์ชาติปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สมัยก่อนจะแต่งตัวเรียบร้อยสวมใส่เสื้อเชิ้ตขาว ผู้หญิงใส่กระโปร่งยาว เป็นผู้ใหญ่ดูสุขุม แม้ว่าในขณะนี้การแต่งตัวจะเปลี่ยนไปตามแต่ก็ยังดูดีเหมือนเดิม ในขณะที่ร้านอาหารแถบนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก จะมีร้านกาแฟตั้งอยู่แบบร้านเว้นร้าน

อย่างไรก็ดี ป้าพงศ์ยังคงเห็นความพิถีพิถันของพนักงานแบงก์ชาติในการเลือกซื้อสินค้าและอาหารรับประทานอยู่เสมอ ป้าพงศ์ได้ฝากข้อคิดว่า ขอให้พึ่งพาตนเอง มีโอกาสได้เรียนรู้อะไรก็ให้รีบเรียน พร้อมปรับตัวเสมอเมื่อมีจังหวะโอกาส เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

หมายเหตุ – ขอขอบคุณ คุณเปรมจิต สมรัตนชัย ที่มีส่วนร่วมในการเขียน Weekly Mail ฉบับนี้