อย่าให้อลหม่านข้ามปี

ภาษีที่ดิน

สามัญสำนึก

พิเชษฐ์ ณ นคร

โค้งสุดท้ายปลายปี 2562 ก่อนเข้าสู่ศักราชใหม่ปีหนูทอง กฎหมายใหม่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 13 มี.ค. 2562 และให้เริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 ทำเอาผู้ถือครองที่ดินและ
สิ่งปลูกสร้างอลหม่านไปทั่ว ขณะที่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็อลวนอลเวงจากความไม่พร้อม

ทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องประกาศเลื่อนระยะเวลาการยื่นขอชำระภาษีจากเดิมภายในเดือน มิ.ย. เป็นภายในเดือน ส.ค. 2563 ส่วนหนึ่งเพื่อรอการออกกฎหมายลำดับรองอีก 8 ฉบับ กำหนดแนวทางปฏิบัติในการสำรวจ จัดทำบัญชี รวมทั้งประเมินอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจากผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่เกิดปัญหาการลักลั่น

แต่ยืดระยะเวลาให้ชำระภาษีออกไปอีก 4 เดือนไม่ทันไร เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็สะพัดทางสื่อโซเชียล หลัง อปท.ทั่วประเทศทยอยส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ถือครองที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งห้องชุดในคอนโดมิเนียม ไปยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการบัญชีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด ฯลฯ ณ ที่ทำการ อปท.แต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับกรณี กทม. ที่โฟกัสไปที่ผู้ถือครองห้องชุดเป็นอันดับแรก โดยให้เจ้าของห้องชุดกว่า 9 แสนยูนิตใน กทม. ไปยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการบัญชีห้องชุด ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต แจงประเด็นเรื่องการใช้ประโยชน์ห้องชุดว่า ใช้เพื่ออยู่อาศัยจริง หรือให้เช่า ฯลฯ เนื่องจากอัตราภาษีที่จะจัดเก็บกรณีใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างการปล่อยเช่า จะสูงกว่าการจัดเก็บภาษีห้องชุดสำหรับใช้อยู่อาศัย

กลายเป็นปมเผือกร้อนในมือรัฐบาล จนทำให้ รมว.คลัง อุตตม สาวนายน กับ รมว.มหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ต้องเร่งปลดล็อก ในฐานะเป็น 2 กระทรวงเสาหลักภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อลดความสับสนและตื่นตระหนกช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนปีใหม่

ประสงค์ พูนธเนศ

โดยปลัดกระทรวงการคลัง ประสงค์ พูนธเนศ ระบุชัดเจนว่า จากที่ได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยได้ข้อสรุปว่า ผู้ถือครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัย หรือให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย หรือปล่อยเช่าเพื่ออยู่อาศัย ให้เสียภาษีในอัตราที่จะจัดเก็บจากการใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย และหากเป็นที่อยู่อาศัยอย่างบ้าน คอนโดฯ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ตกแต่ง ก็ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกัน แต่ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม กับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือคอนโดฯ ที่ผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการพัฒนา

ขณะเดียวกันก็ถอดสลักกรณีผู้ถือครองต้องไปยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการบัญชีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งห้องชุดในคอนโดฯ ใน อปท.แต่ละพื้นที่ โดย 2 กระทรวงได้ร่วมกันกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์สำหรับให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อลดความสับสน และไม่สร้างภาระความยุ่งยากให้กับประชาชน

เช่นเดียวกับการตีความคำว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่เข้าใจไปคนละทิศละทาง หลังเศรษฐีเมืองกรุง พลิกที่ดินทำเลทองมูลค่าหมื่นล้านบาทปลูกมะนาว ไม้ผล จนเกิดพฤติกรรมตามอย่างในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองนนท์ ปทุมฯ ปากน้ำ รวมทั้งนายทุน แลนด์ลอร์ดตามหัวเมืองหลัก เมืองรอง ฯลฯ

สมาร์ทฟาร์เมอร์มือใหม่ กระเป๋าหนัก หลักพันล้าน หมื่นล้าน เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ฤกษ์ยามดีรัฐบาลประกาศตีทะเบียนเกษตรกรรอบใหม่ปีนี้ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะมีงานเพิ่มเต็มมือ รับจดทะเบียนเกษตรกรหน้าใหม่ไม่ทันแน่

ไม่น่าเชื่อว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯที่อลวนอลเวง ตั้งแต่ช่วงการยกร่าง ผ่านกระบวนการพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติฯ (สนช.) มาแบบถูกยำใหญ่ เมื่อประกาศบังคับใช้ก็ยังมีเรื่องวุ่นไม่หยุด สมกับเป็นกฎหมายอาถรรพ์จริง ๆ