บาทแข็ง “จำเลย” ปัญหาเศรษฐกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

 

ช่วงที่ผ่านมาได้พบปะนักธุรกิจไม่ว่าแวดวงไหนก็สะท้อนปัญหา “เงินบาทแข็งค่า” ที่สร้างปัญหาต่อธุรกิจมากมาย ทั้งภาคส่งออก ภาคเกษตร ท่องเที่ยว ต่างได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า

เรียกว่าตอนนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากลายเป็น “จำเลย” ของปัญหาเศรษฐกิจไทย

และตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ครม.เศรษฐกิจด้วย เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังสอดรับ และช่วยกันพยุงเศรษฐกิจ

แม้ว่า 8 พ.ย. 2562 ธปท.จะประกาศ 4 หลักเกณฑ์ผ่อนคลายการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ “ยกเว้นการนำรายได้ส่งออกกลับประเทศ-เปิดให้รายย่อยลงทุนหลักทรัพย์ ตปท.-เปิดเสรีโอนเงินออกนอกประเทศ-ซื้อทองคำด้วยสกุลเงิน ตปท.” หวังลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

แต่สถานการณ์เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง และกลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสิ้นปี

ทำให้ปี 2562 ที่ผ่านมา บาทแข็งค่าถึง 7.6% ถือว่าเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค และย้อนไป 4 ปีก็พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึงราว 20%

นี่จึงเป็นสิ่งที่นักธุรกิจและนักวิชาการหลายฝ่ายมองว่าแบงก์ชาติยังดูแลค่าเงินบาทได้ไม่ดีพอ หรือการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยมาช้าเกินไป

ขณะที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวในงาน Analyst Meeting ว่า “เวลาพูดค่าเงินบาทเหมือนอาการไข้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงก็แก้ไขด้วยนโยบายการเงิน เหมือนให้ยาพาราลดไข้ แต่อีกด้านอาจอักเสบจากข้างใน ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องให้มากกว่ายาแก้ไข้ หรือมาตรการด้านการเงินที่ธปท.พยายามทำ คือจำเป็นต้องมีนโยบายด้านอื่น ๆ มาร่วมกันแก้ปัญหา ต้องคิดในภาพใหญ่เป็นองค์รวม”

ผู้ว่าการ ธปท.อธิบายว่า “บาทแข็งเป็นเพียงอาการและมีสาเหตุจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นหลัก” แต่หากมองปัญหาบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลึกลงไป จะเห็นว่าเป็นผลจากปัญหา “ช่องว่างการออมและการลงทุน” ซึ่งมาจากภาคธุรกิจที่ไม่ได้ลงทุนมากเท่าที่ควร และเมื่อมองลึกลงไปอีกจะพบว่าเกิดจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาดตลาดไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุน

ขณะที่เอสเอ็มอี ก็ไม่ลงทุนเพราะขาดความสามารถในการแข่งขัน ธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นแหล่งจ้างงานหลัก เมื่อไม่ลงทุนก็จะกระทบการจ้างงานของประเทศ และปัญหาหนี้ครัวเรือนก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้มาจากมิติการเงินเพียงด้านเดียว ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย เช่น ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี และกำกับดูและธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย

ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า “ภาวะปัจจุบันเป็นโอกาสที่สามารถคิดแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะประเทศมีฐานะเงินทุนต่างประเทศที่ค่อนข้างดีและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ช่วยให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทำได้ง่ายกว่าในภาวะดอกเบี้ยสูง”

ขณะที่เวลานี้รัฐบาลก็ยอมรับแล้วว่าปัญหา “บาทแข็งไม่ใช่ปัญหาของแบงก์ชาติแต่ผู้เดียว”

เช่นที่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของแบงก์ชาติแต่เพียงผู้เดียว เป็นปัญหาของทุกคน ส่วนอื่น ๆ ของรัฐบาลมีหน้าที่ไปช่วย เหมือนข้าศึกมาประชิดชายแดน แบงก์ชาติเป็นแม่ทัพมีหน้าที่สั่งรบ ซ้าย ขวา อิสระหมายถึงอิสรภาพในการสู้ แต่การจะสู้ให้ได้ดี ต้องมีทัพเสบียง ทัพหนุนส่งไปช่วย จะทำให้ต่อสู้ได้เต็มที่”

และล่าสุดที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ระบุว่า จะร่วมมือกับ ธปท.ออกชุดมาตรการดูแลค่าบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เกมต่อสู้ “บาทแข็ง” ครั้งนี้จึงเป็นเกมเดิมพันเศรษฐกิจไทยในมือแบงก์ชาติและรัฐบาล