ฝุ่นแก้เหมือนไม่ได้แก้ ผู้แทนฯเลือกได้เหมือนไม่ได้เลือก

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

กษมา ประชาชาติ

เมื่อวันก่อนได้อ่านบทความ แก้ปัญหาจาก “ใจ” คอลัมน์ Market Think โดยพี่หนุ่มเมืองจันท์ สรกล อดุลยานนท์ เล่าถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤต “crisis management” กรณีเหตุการณ์ปล้นร้านทองออโรร่า จ.ลพบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย สร้างความสะเทือนใจต่อสังคม และยังกระทบไปถึงภาพลักษณ์องค์กร และอาจขยายวงไปถึงการทำธุรกิจร้านทอง ซึ่งเรียกว่าเป็นร้านที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุวิกฤตไม่คาดคิดด้วยเหตุที่มีสินค้าราคาสูง มีสาขากระจายไปยังห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ จำนวนมาก

การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวของเจ้าของร้านออโรร่า ถือเป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤตเหนือไปกว่าหลักการ crisis management เพราะมาตรการเยียวยาไม่ใช่เพียงการเยียวยาตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่เป็นการเยียวยากำลังใจทั้งผู้ใช้บริการและพนักงาน เป็นแนวทางการทำงานที่น่านับถือ

ให้บทเรียนการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤต เป็นเรื่องที่ผู้นำองค์กรต้องเรียนรู้และปรับใช้

หันมามองตอนนี้ไทยมี crisis หลายอย่างเกิดขึ้นรอบตัว ทั้งที่เกี่ยวพันกับเรื่องความปลอดภัยในชีวิต อย่างการใช้สารเคมี การสูดอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง PM 2.5 หรือการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งพอเห็นมาตรการรัฐออกมาแก้ไข หน้าตาแต่ละปีไม่ได้ต่างจากเดิม การตรวจควันดำ การขอคืนพื้นที่ก่อสร้าง เพิ่มผิวจราจร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามช่วยแก้ อย่างล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศหยุดโรงเรียนใน กทม. 437 โรงเรียน เราต่างก็รู้กันดีว่านั่นแค่ปลายเหตุ ทำเฉพาะหน้า แต่มาตรการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างการเผา การจราจรกลับไม่มีมาตรการชัดเจน ต้องรอไปอีกเป็นสัปดาห์เพื่อย้อนกลับไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อนแล้วน่าจะย้อนกลับมาที่ ครม.อีกรอบ ถึงเวลานั้นไม่ฝุ่นจาง ก็คนป่วยไปแล้ว

หรือการแก้ไขปัญหาสารเคมีที่ใช้วิธีการซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ 3 สารนี้ไม่ใช่ 3 ตัวแรกในไทยที่ต้องคาราคาซังแบบนี้ หากยังจำได้ไทยมีแร่ใยหิน มีอีกหลายเรื่องเลยที่รัฐใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการซื้อเวลา

ลำพังผลเสียจากวิกฤตก็แย่อยู่แล้ว แต่ผลเสียจากความรู้สึกที่ว่า “แก้เหมือนไม่ได้แก้” ยิ่งรุนแรงมากกว่าในสายตาของประชาชน และปัญหานี้กำลังสะสมกลายเป็นวิกฤตศรัทธา

ต้องยอมรับว่าการสื่อสารไร้พรมแดนที่เปิดกว้างมากในทุกวันนี้ ทำให้ประชาชนรับรู้ว่าประเทศต่าง ๆ มีการแก้ไขแต่ละวิกฤตอย่างไรบ้าง จึงหันมาตั้งคำถามว่าเหตุผลอะไรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือกที่จะซื้อเวลา และปล่อยประชาชนที่ใช้คะแนนเสียงเลือกรัฐบาลเข้ามาต้องเผชิญกับวิกฤตต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของคนทำข่าวยังต้องทำหน้าที่เสนอข่าวด้วยข้อเท็จจริงรอบด้าน ท่ามกลางความรู้สึกเช่นเดียวกันกับประชาชน จากที่ตัวเองเคยวิทยานิพนธ์ปริญญาโทไว้เมื่อปี 2548 เรื่อง “ผลของการนำเสนอข่าวความเสี่ยงที่มีองค์ประกอบด้านความรุนแรง และโอกาสที่จะประสบกับความเสี่ยงต่อการตัดสินใจของประชาชน” ทำให้เราเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะอ่านข่าวที่มีองค์ประกอบเรื่องความรุนแรงที่มีคนตายจำนวนมากหรือข่าวที่มีโอกาสที่เกิดความเสี่ยงนั้นกับตัวเองสูงมาก ๆ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจดำเนินชีวิตสักเท่าไร เพราะถึงอย่างไรประชาชน “จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องเผชิญกับความเสี่ยงนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้”

ทางเดียวที่ทำได้ คือ การปรับพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสจะเผชิญกับความเสี่ยง หมายถึง “จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น” ซึ่งมันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ไม่ว่าจะมีภูมิหลังเกี่ยวกับความเสี่ยงแตกต่างกันอย่างไร แต่การตัดสินใจจะมีชีวิตไม่ได้ต่างกัน เพราะความจำเป็นบังคับ


จนบางครั้งก็อดนึกไม่ได้ว่า เป็นประชาชนนี่แสนลำบาก ปัญหาก็แก้ไม่ได้-การใช้ชีวิตก็เลือกไม่ได้ มีเพียงการเลือกผู้แทนฯ เลือกได้แต่เหมือนไม่ได้เลือก ไม่ต่างอะไรกับเลือกไม่ได้ (555) อย่างไรก็ตาม เชื่อเถอะว่าผลงานท่านในวันนี้ส่งผลถึงคะแนนเสียงในวันหน้าแน่นอน ถ้าเลือกได้และได้เลือกจริงคราวหน้าหลายคนคงเลือกเปลี่ยนคนแก้ แม้จะปัญหาเดิม