เม็ดเงินหาย…แสนล้าน

AFP PHOTO / TOSHIFUMI KITAMURA

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

 

วันก่อนขาใหญ่เบอร์หนึ่งค่ายรถยนต์โตโยต้า จัดแถลงข่าว ป่าวประกาศ บอกทิศทางอุตสาหกรรม ฟังแล้ว “มึนตึ้บ” กันเลยทีเดียว

คุณ “มิจิโนบุ ซึงาตะ” บอสใหญ่โตโยต้าประเทศไทย บอกว่า ยอดขายรถยนต์ปี 2562 ทะลุล้านคัน โดยมียอดขาย 1 ล้าน กับอีก 7,552 คัน ลดลงจากปี 2561 ราว ๆ 3.3% ขายน้อยลงแต่ยังดีเพราะถือเป็นปีที่ 4 ในประวัติศาสตร์ตลาดรถยนต์ไทยที่มียอดขายเกินล้านคัน

แต่ที่น่าตกใจ เขาบอกว่า ตลาดรถยนต์ปี 2563 จะขายไม่ถึงล้านคันแน่นอน ประเมินไว้เพียง 9.4 แสนคัน ร่วงจาก ปี 2562 ถึง 7% พร้อมทั้งสาธยายปัจจัยที่ทำให้ตลาดหดตัว

ตั้งแต่เศรษฐกิจโลกซบ สงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งตัว ภัยแล้ง น้ำท่วม กำลังซื้อถดถอย รวมถึงความเข้มงวดของสินเชื่อ ที่กังวลเรื่องหนี้เสีย

นับนิ้วคำนวณดูคร่าว ๆ ตัวเลข ยอดขายรถยนต์หายไปประมาณ 7 หมื่นคัน ถ้าเฉลี่ยราคารถต่อคันประมาณ 1 ล้านกว่าบาท เท่ากับเม็ดเงินหายไปจากอุตสาหกรรมรถยนต์เกือบ “แสนล้าน”  ทีเดียว

อุตฯรถยนต์มีห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain ค่อนข้างยาว ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

เริ่มจากผู้ผลิตวัตถุดิบ แม่พิมพ์ต่าง ๆ ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน โรงงานผลิตรถยนต์ ไปจนถึงระบบโลจิสติกส์ หลังผลิตรถเป็นคันออกมาแล้ว ก็ยังมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกบานเบอะ ตัวแทนจำหน่าย อุปกรณ์ตกแต่ง สินเชื่อไฟแนนซ์ ประกันภัย ศูนย์ซ่อม บริการหลังการขาย ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อตลาดรถยนต์ถูกกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลงทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องย่อมหนีผลกระทบนี้ไม่พ้น

ฉะนั้นปี 2563 จึงเป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงยากลำบาก ทุกคนต้องปรับตัว และมองหาโอกาส สิ่งสำคัญคือพยายามเอาตัวให้รอด จำได้ว่าเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สภาอุตฯปรับประมาณการผลิตรถยนต์ทั้งปี จากเดิม 2.15 ล้านคันต่อปี เหลือแค่ 2 ล้านคัน ระบุเหตุผลว่า ออร์เดอร์ส่งออกลดลง โดยเฉพาะพื้นที่ตะวันออกกลาง ทำให้ตัวเลขผลิตรถยนต์หายไป 1.5 แสนคัน

เที่ยวนั้นก็กระทบเป็นวงกว้าง ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ซัพพลายเออร์มีการลดโอที หยุดงานเป็นระยะ ๆ ไปจนถึงปลดคน เรียกว่าผู้ประกอบการยอมให้พนักงานทุกระดับนอนอยู่บ้านเฉย ๆ โดยจ่ายค่าจ้างในอัตรา 75% ของค่าจ้างปกติ เพราะถ้าผลิตออกมา แต่ไม่มีคำสั่งซื้อ การหาพื้นที่เก็บสินค้าน่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่าจ่ายค่าจ้างซะอีก

ผมเจอผู้บริหารค่ายรถยนต์หลาย ๆ ราย พยายามถามว่า ตลาดหดตัวแบบนี้กลยุทธ์อะไรที่ต้องรีบเอามาใช้หรือเหมาะสมที่สุด ส่วนใหญ่บอกทุกรูปแบบงัดมาใช้หมด ปีนี้รับรองไม่มีกั๊ก แต่สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ สงครามราคา เชื่อว่าดุเดือดเลือดพล่านแน่ ๆ เขาพยายามบอกดีลเลอร์ทุกรายต้องเก็บมาร์จิ้นให้ได้ ไม่ใช่ขายทิ้งไปเป็นส่วนลดหมด กำไรไม่เหลือจะอยู่กันอย่างไร

อีกคำถามที่หลายคนตอบคล้าย ๆ กัน คือ ปีนี้ผลประกอบการลดลงแน่ ๆ

แต่ส่วนแบ่งตลาดของเราต้องไม่หล่นไปจากเดิม แสดงว่า ถ้าจะรักษาส่วนแบ่งตลาดของตัวเองไว้จากตลาดที่ขายน้อยลง สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ต้อง “แย่งแชร์” ของชาวบ้าน


ศึกรถยนต์ปี 2563 จึงเป็นสมรภูมิที่ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด