Hypermarket เปลี่ยนสู่การผูกขาด

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย

 

หากเจาะลึกในรายละเอียด ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงในสมรภูมิค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตช่วงปี พ.ศ. 2536-2548 ถึงแข่งขันกันสูง แต่ก็เป็นไปอย่างเสรี ทั้งจำนวนผู้เล่นค้าปลีกต่างชาติและค้าปลีกสัญชาติไทย หรือในแง่รูปแบบการดำเนินธุรกิจก็มีไฮเปอร์มาร์เก็ตเต็มรูปแบบสไตล์สากล และกึ่งไฮเปอร์มาร์เก็ตแบบไทย ๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าฉุกคิดกลับไม่ใช่อดีต แต่เป็นปัจจุบัน เพราะโครงสร้างการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตกำลังเปลี่ยนแปลง จากที่เคยอยู่ในสมรภูมิการแข่งขันท้ารบแบบเข้มข้น ช้างใหญ่ชนช้างใหญ่ ช้างเล็กรวมตัวสู้ช้างใหญ่ ก้าวสู่จุดที่เรียกว่า “กึ่งผูกขาด” และจะกลายเป็น “การผูกขาด” ในที่สุด

ผู้เขียนซึ่งเป็นนักวิชาการอิสระ อยู่ในแวดวงค้าปลีกและติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดค้าปลีก โดยเฉพาะประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตมาตลอด แม้แต่วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มุ่งสนใจเรื่อง corporate identity ของ Tesco Lotus ไฮเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอังกฤษ ที่ปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในประเทศไทย บทความเชิงวิชาการนี้จะฉายภาพให้เห็นว่า โครงสร้างการแข่งขันตลาดค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต ขยับจากตลาดแข่งขันสมบูรณ์สู่ตลาดไม่สมบูรณ์ และกำลังจะกลายเป็นตลาดผูกขาด monopoly ได้อย่างไร ?

“ตลาด” ในมิติการแข่งขัน แล้ว Hypermarket อยู่พิกัดไหน ?

ความหมายสั้น ๆ ของคำว่า “ตลาด” (market) หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำการตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่คำนึงว่าต้องมีสถานที่ติดต่อซื้อขายหรือไม่ ถ้ามีการตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น ถือว่าเกิดตลาดสินค้านั้น ๆ แล้ว ตลาดแบ่งได้ดังนี้

1.ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (perfectly competitive market)ตลาดในอุดมคติของนักเศรษฐศาสตร์ ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (perfectly competitive market) ถือว่าเป็นตลาดที่ดีที่สุด ลักษณะของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ คือ ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย ผู้ค้ามีจำนวนมาก การกำหนดราคาจะต้องซื้อขายสินค้าในราคาตลาด (market price) หรือปฏิบัติตามราคาตลาด (price taker)

2.ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (nonperfect competitive market) ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์มีอยู่ 3 ลักษณะ คือ

2.1 ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (monopolistic competition market) ลักษณะเด่นของตลาดนี้ คือ ผู้ค้าหรือผู้ขายมีจำนวนไม่มาก และไม่มีการรวมตัวกัน ที่สำคัญ สินค้าของผู้ค้าแต่ละรายก็ไม่แตกต่างกันมาก ทั้งด้านรูปร่าง คุณภาพ หรือความรู้สึก หากเจ้าใดตั้งราคาสินค้าสูงกว่าผู้ผลิตรายอื่นมากก็มีโอกาสสูญเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งได้ง่าย

2.2 ตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly market) ตลาดที่ประกอบด้วย ผู้ค้าหรือผู้ขายตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป แต่ไม่ว่าจำนวนผู้ค้าหรือผู้ขายจะมีกี่รายก็ตาม หากผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งเปลี่ยนแปลงราคาและปริมาณขาย มักส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายอื่นในตลาด สถานการณ์เช่นนี้ รายอื่น ๆ จะไม่อยู่เฉย พยายามหาทางโต้ตอบกลับเช่นกัน เพื่อรักษาฐานที่มั่นของตัวเอง และป้องกันการแย่งชิงลูกค้า

2.3 ตลาดผูกขาดแท้จริง (pure monopoly market) ลักษณะสำคัญของตลาด คือ มีผู้ค้าหรือผู้ขายเพียงรายเดียว เรียกว่า “ผู้ผูกขาด” (monopolist) สินค้าไม่สามารถหาสินค้าอื่นทดแทน และผู้ค้าจะพยายามกีดกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาผลิตแข่งขันได้ ทำให้ผู้ผูกขาดมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า (price maker) หรือกำหนดปริมาณขาย (price searcher) อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามต้องการ

3 ยุคแห่งสมรภูมิรบ สถานการณ์การแข่งขันในตลาด Hypermarket

ยุคบุกเบิก เปิดตัวด้วยตลาดแข่งขันสมบูรณ์

สถานการณ์ไฮเปอร์มาร์เก็ต ยุคเริ่มต้นปี พ.ศ. 2536 กลุ่มเซ็นทรัลนับเป็นเจ้าแรกที่เข้ามาบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้ ที่สาขาแจ้งวัฒนะ ใช้ชื่อว่า “Big C Supercenter” เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างซูเปอร์มาร์เก็ต ชั้นบนดิสเคานต์สโตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 กลุ่ม CP หรือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิด “Lotus Supercenter” ในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ด้วยพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร ในเวลาใกล้กัน คุณอนันต์ อัศวโภคิน Land & House ร่วมทุนกับกลุ่มผู้บริหารโรบินสันเดิม ที่มี คุณมานิตย์ อุดมคุณธรรม และคุณปรีชา เวชสุภาพร ได้ก่อตั้ง “Save One Supercenter” ตั้งอยู่บริเวณศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต อย่างไรก็ตาม ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างเซ็นทรัลกับโรบินสัน “Save One Super-center” ได้โอนมาให้กับ Big C ซึ่งก็คือ Big C สาขารังสิต ทุกวันนี้

ในปีถัดไป พ.ศ. 2538 ห้าง Carrefour จากฝรั่งเศส ร่วมทุนกับเซ็นทรัล ตั้งบริษัท Cencar บริหารค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเต็มตัว โดยสาขาแรกตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล 3 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นถนนรามคำแหง)

ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดก็ให้ความสนใจรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต และเริ่มขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง อาทิ Big King กลุ่มเมอร์รี่ คิงส์, Save Co. ของกลุ่มเมเจอร์, เมโทร, อมรพันธุ์, เอดิสัน, เอ็กเซล, บิ๊กเบลล์, นิวเวิลด์, อิมพีเรียล และสยามจัสโก้

กล่าวได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคบุกเบิกตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต การค้าขายเป็นไปอย่างเสรี มีการแข่งขันสมบูรณ์ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ทั้งทุนขนาดกลางและขนาดใหญ่ หลากหลายรูปแบบ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตารางเมตร จนถึงขนาดเล็กราว 2,000-3,000 ตารางเมตร มุ่งชูจุดขายเรื่องราคาถูก มีทั้งไฮเปอร์มาร์ตแบบสากลเต็มรูปแบบ จนถึงไฮเปอร์มาร์ตแบบไทย ๆ เน้นราคาถูก สุดคุ้ม

เห็นได้ว่าพัฒนาการของไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย ส่วนใหญ่อิงกับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก โดยลูกค้าเป้าหมายที่เป็นแม่บ้าน มีกำลังซื้อสินค้าระดับปานกลางจนถึงระดับล่าง แต่ต้องการสินค้ามีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล ไม่สนใจแบรนด์เนม ซึ่งการที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตมีทั้งส่วนที่เป็นสินค้าบริโภคประจำวัน (food) และส่วนที่เป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็น (general merchandise) ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เบ็ดเสร็จ อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายคอยให้บริการ อาทิ ที่จอดรถกว้างขวาง มีธนาคารเปิดให้บริการ มีโรงภาพยนตร์ ทุกอย่างเบ็ดเสร็จในที่เดียว จึงทำให้ค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นที่นิยมอย่างมาก

ยุคหลังต้มยำกุ้ง Hypermarket เข้าสู่ตลาดไม่สมบูรณ์ (Nonperfect Competition Market)

หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทยเริ่มประสบปัญหาหนี้สินต่างประเทศอย่างรุนแรง โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางขยายกิจการด้านค้าปลีกและการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เกินตัว เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ภาระหนี้จึงเพิ่มกว่าเท่าตัว ทำให้ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต เปลี่ยนมือเป็นของต่างชาติมากขึ้น หลังจากที่กฎหมาย ปว.281 อนุญาตให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีสิทธิ์ในการบริหารงาน นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป

-ปี พ.ศ. 2540 ห้างท้องถิ่นอย่าง Save Co., Big King, Imperial, Tan Hua Seng และห้างขนาดกลาง ๆ เลิกกิจการ

-ปี พ.ศ. 2541 Lotus ขายกิจการให้ Tesco จากอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus

-ปี พ.ศ. 2542 Central ขายหุ้นบริษัท Cencar คืนให้กับ Carrefour

-ปี พ.ศ. 2545 Big C ร่วมทุนกับ Casino Group จากฝรั่งเศส

-ปี พ.ศ. 2546 Auchon ซึ่งมีอยู่สาขาเดียวที่เชียงใหม่ ขายกิจการให้ Big C

ยุคตลาดกึ่งแข่งขัน กึ่งผูกขาดสู่ตลาดผู้ขายน้อยราย จาก 3 เหลือแค่ 2

คาร์ฟูร์ (Carrefour) เป็นกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจากฝรั่งเศส มีสาขาอยู่ทั่วโลก ถ้าคิดจากรายได้แล้ว คาร์ฟูร์จะเป็นกลุ่มค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่เพียงวอลมาร์ต คาร์ฟูร์ในประเทศไทย เปิดสาขาแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538 สิบห้าปีผ่านไป คาร์ฟูร์ไม่อาจฉีกตัวเองให้โดดเด่นจากคู่แข่งที่แข็งแกร่งได้ และจำนวนสาขามีเพียง 45 สาขาเท่านั้น รั้งท้าย ถือเป็นรายที่ 3 ในจำนวนผู้เล่นทั้งหมด โดยมี Tesco Lotus เป็นอันดับ 1 และ Big C เป็นอันดับ 2

ในปี พ.ศ. 2553 คาร์ฟูร์ประกาศถอนการลงทุนออกจากประเทศไทย Casino Group ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่และบริหาร Big C ตัดสินใจออกจากตลาด ประกาศขาย Big C ในประเทศไทย ทางกลุ่ม BJC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ ปิดดีลเข้าซื้อกิจการ Big C มาจากกลุ่ม Casino Group ได้สำเร็จ ทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตเหลือเพียง 2 เจ้า ในตลาดตอนนี้ แบ่งเป็นของกลุ่มทุนไทย (Big C) และกลุ่มทุนต่างชาติ (Tesco Lotus)

ความจริงที่น่าคิด ? ทำไมยุคบุกเบิกมีผู้เล่นในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า 10 ราย ผ่านไป 2 ทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างทำให้ทางเลือกในการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลง จาก 10 ราย เหลือเพียง 2 ราย เท่านั้น

ยุคปัจจุบัน ไฮเปอร์มาร์เก็ตกำลังเข้าสู่ตลาดผูกขาดรายเดียว Monopoly จริงไหม ?

ล่าสุดปลายปี พ.ศ. 2562 กลุ่ม Tesco ได้ประกาศว่า อาจขายกิจการ Tesco Lotus จำนวน 1,967 สาขาในประเทศไทย ท่านใดติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิดจะพบว่า กลุ่ม BJC ซึ่งเป็นเจ้าของ Big C ประกาศสนใจที่เข้าร่วมประมูลซื้อ Tesco Lotus หากกลุ่ม BJC เป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ จะทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารแบบเจ้าของคนเดียว นั่นหมายความว่า ตลาดการแข่งขันค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เคยแข่งขันกึ่งผูกขาดในอดีต จะกลายเป็นตลาดแข่งขันแบบผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จ

เราคงต้องพึ่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการผูกขาดอย่างเคร่งครัด และกล้าที่จะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการปล่อยให้มีกลุ่มธุรกิจที่ผูกขาดทางการแข่งขันและครอบครองตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตได้ทั้งหมด จะนำไปสู่ปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินของประชาชน

หลังจากอ่านบทความจบ ตอนนี้คุณมีคำตอบในใจแล้วหรือยังว่า

ตลาดค้าปลีก hypermarket เปลี่ยนแปลงสู่การผูกขาดหรือไม่ ?

แล้วอำนาจแท้จริงอยู่ในมือใครกันแน่ ?