ขายเทสโก้ แล้วใคร ผูกขาด งานที่รออยู่ข้างหน้าของคณะกรรมการแข่งขัน

ภาพจาก : www.tescolotus.com
คอลัมน์ นอกรอบ

การขายกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็น “อำนาจเหนือตลาด” ที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ

บทความจากนักธุรกิจใหญ่ที่ไม่ประสงค์ออกนามชิ้นนี้ เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ ชวนให้คิดและวิเคราะห์ตามอย่างยิ่ง

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 เป็นหน่วยงานอิสระ คณะกรรมการประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการ รองประธานคณะกรรมการ และกรรมการอีก 5 คน รวม 7 คน

ใน พ.ร.บ.หมวด 3 มาตรา 51 ระบุว่า การรวมธุรกิจที่ทำให้เกิด ลดการแข่งขัน หรือผูกขาด ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 90 วัน

มีการกำหนดโทษทางปกครองไว้ในมาตรา 80 เป็นโทษปรับรายวันไม่เกิน 10,000 บาท และในมาตรา 81 หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด จะมีโทษปรับร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรม

กิจการเทสโก้มีขนาดธุรกิจที่มีสาขาเกือบ 2,000 สาขา มียอดขาย 190,000 ล้านบาท และมีกำไรกว่า 9,000 ล้านบาท ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้าซื้อกิจการเทสโก้ ก็จะต้องขออนุญาตจาก กขค. เพราะขนาดธุรกิจใหญ่และมีผลต่อการแข่งขัน

มีข่าวในวงการว่า มีเจ้าสัว 3 รายที่สนใจเข้าประมูลซื้อกิจการเทสโก้ครั้งนี้ และเจ้าตัวทั้ง 3 รายก็มีกิจการลักษณะเดียวกันอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ซี.พี. บีเจซี (บิ๊กซี) หรือเซ็นทรัล คำถามจึงเกิดขึ้นว่า แล้วคณะกรรมการจะพิจารณาอนุญาตบนเงื่อนไขอย่างไร หากรายหนึ่งรายใดเกิดชนะการประมูลขึ้นมา

งานนี้จึงเป็นงานที่ท้าทายสำหรับ กขค.ชุดนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นกรณีแรก และเป็นกรณีของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อนในการแข่งขันอยู่ไม่น้อย จนมีการคาดเดากันว่า กรณีเลวร้ายที่สุด กขค.อาจจะไม่อนุญาตให้เกิดการซื้อขายครั้งนี้ หรือมีเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถปฏิบัติได้ จนเกิดปัญหาในการซื้อขายในที่สุด

กขค.จะต้องพิจารณาว่า จะให้คำนิยามของการแข่งขันนี้อย่างไร เป็นการแข่งขันของธุรกิจอะไร ธุรกิจประเภทใดจะถูกตีความว่าอยู่ในตลาดการแข่งขันเดียวกัน มีสิ่งทดแทนได้หรือไม่ ผู้บริโภคยังคงมีทางเลือกหรือไม่ ในสินค้ากลุ่มใด และในที่สุดจะใช้นิยามของคำว่าตลาดนี้อย่างไร เพราะคำจำกัดความของตลาดสามารถกำหนดได้หลายแบบ เช่น

คำจำกัดความของตลาดสามารถกำหนดจากประเภทของสินค้า โดยใช้กลุ่มของสินค้าเป็นตัวกำหนดว่า มีกลุ่มสินค้าใดที่มีผลกระทบต่อการแข่งขัน ที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก หรือใช้ภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดตลาดว่า ในบริเวณท้องถิ่นใดที่ไม่มีคู่แข่ง หรือมีผู้ประกอบการรายเดียว ประเด็นนี้อาจจะมีปัญหาอีกว่า จะใช้ขนาดท้องถิ่นใหญ่เท่าไร เช่น เขตตำบล อำเภอ หรือจังหวัด

หรือใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นตัวกำหนดว่า มีการแข่งขันกันกี่ช่องทางในการกระจายสินค้าให้กับผู้บริโภค เช่น ช่องทางการค้าสมัยใหม่ (modern trade) ช่องทางการค้าแบบเดิม (traditional trade) เช่น ร้านค้าทั่วไป ร้านโชห่วย และตลาดสด ขนาดของการขายสินค้าแต่ละช่องทางก็มีให้ไม่เท่ากัน และขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า นอกจากนี้ ช่องทางการค้าสมัยใหม่ยังมีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งเรียกในภาษาผู้ประกอบการว่า รูปแบบ (format) เช่น hypermarket, supermarket, cash & carry, convenience store และ department store ซึ่งทุกรูปแบบก็เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า

คำจำกัดความของตลาด (market definition) จึงเป็นจุดชี้ว่า มีผู้ประกอบการรายใดผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด และ กขค.จะใช้เงื่อนไขใดเป็นตัวกำหนดในการอนุญาต

ความจริงแล้ว เทสโก้เป็นผู้ค้าปลีก (retail) อยู่ในธุรกิจกระจายสินค้า หรือช่องทางการจัดจำหน่าย ดังนั้นหากต้องมองการแข่งขัน ก็ต้องมองผู้ประกอบธุรกิจเดียวกัน คำถามจึงเกิดขึ้นว่าจะมองอย่างกว้าง หรืออย่างแคบ ถ้ามองอย่างการแข่งขันทางช่องทางการจัดจำหน่ายก็ต้องรวมทุกช่องทาง ทั้งการค้าสมัยใหม่ (modern trade) และการค้าแบบเดิม (traditional trade) รวมกันเป็นขนาดตลาดทั้งหมดก็จะมีมูลค่าถึง 2,098 พันล้านบาท แต่ถ้ามองอย่างแคบ ก็ต้องมาถามอีกว่า แคบแค่ไหน เช่น วัดเฉพาะการค้าสมัยใหม่ (modern trade) ก็ต้องรวมการค้าทุกรูปแบบ (format) เข้าด้วยกันเป็นตลาดรวม ที่มีมูลค่า 992 พันล้านบาท

หรือจะมองแคบลงไปอีก แบ่งเป็นรูปแบบขนาดเล็ก (convenience) ก็จะมีมูลค่าตลาดรวม 400 พันล้านบาท กับรูปแบบขนาดใหญ่ ทั้งหมดรวมกัน (hyper, super, cash & carry) ก็จะมีมูลค่าตลาดรวม 581 พันล้านบาท ขนาดของตลาดก็จะต่างออกไปอีก คำถามก็จะต่างออกไปอีก คำถามก็จะเกิดว่าในกรณีเทสโก้นี้ ควรจะใช้ขนาดตลาดรูปแบบไหนเป็นตัวกำหนด ถึงจะเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค การที่จะตัดสินด้วยการกำหนดรูปแบบร้านค้า รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นขนาดของตลาด เป็นการมองที่แคบเกินไป

ในอีกมิติหนึ่งก็คือ ใช้ผู้บริโภคเป็นตัวกำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก เพราะผู้บริโภคไม่สนใจหรือเข้าใจเรื่องรูปแบบ (format) ว่าเป็น hyper, super, cash & carry หรือ convenience เพราะรูปแบบเหล่านี้เป็นเพียงยุทธศาสตร์ในการออกแบบร้านค้าของผู้ประกอบการ ในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคเท่านั้น ผู้บริโภคเองสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ใดก็ได้เหมือนกัน เช่น สามารถซื้อเครื่องดื่ม หรืออาหารได้ตั้งแต่จากร้านสะดวกซื้อ ร้าน supermarket ร้าน hypermarket หรือแม้แต่ร้านข้างบ้านได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ รูปแบบร้านค้าเหล่านี้ไม่สามารถกำหนดให้ตายตัวได้ ผู้ประกอบการย่อมมีพัฒนาการของการจัดรูปแบบร้านค้าก็จะเปลี่ยนไปให้สอดคล้อง กับพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนั้น การใช้รูปแบบ (format) เป็นตัวกำหนดขนาดของตลาด เป็นการมองแค่ปัจจุบัน ไม่ได้มองอนาคตระยะยาว เช่น อนาคตการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่ปัจจุบันเป็นตลาดขนาดเล็ก อาจจะเติบโตเป็นรูปแบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็ได้ และรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็อาจจะหายไปเลย หรือลดน้อยลงไป หากพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปก็ได้

การมองตลาดแบบทางเลือกทดแทน (substitution) โดยใช้ผู้บริโภคเป็นตัวกำหนด จึงอาจจะกลายเป็นคำตอบที่อธิบายได้ง่ายที่สุดอีกวิธีหนึ่งว่า ผู้บริโภคได้รับผลกระทบหรือไม่มีทางเลือกทดแทนได้หรือไม่ มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่กำหนดไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถทำวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อพิสูจน์ว่าผู้บริโภครับรู้เรื่องรูปแบบ (format) เหล่านี้มากน้อยเพียงใด และเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือไม่

ข้อพิจารณาเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งกับ กขค. เพราะเชื่อว่าศึกครั้งนี้ ผู้ขายเทสโก้ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ระดับโลก ย่อมมีประสบการณ์เรื่องนี้ในประเทศอังกฤษ และคงมีทีมนักกฎหมาย และนักเศรษฐศาสตร์ ที่มีความรู้ในเรื่องนี้ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ช่วยทำการบ้านมาอย่างดี ไม่งั้นคงไม่กล้าที่จะประกาศขายกิจการระดับหลายแสนล้านบาทอย่างเปิดเผย ท่ามกลางกระแสความเห็นที่หลากหลายอยู่ในขณะนี้