Smart Office & Smart Service โมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจสภาอุตฯ

คอลัมน์ ดุลยธรรม
โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ ม.รังสิต

การพัฒนาเข้าสู่ยุค 5G ถือเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในหลายประเทศทั่วโลก จะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกและไทย รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากคุณสมบัติหลัก 3 ประการของเทคโนโลยี 5G คือ enhanced mobile broadband (eMBB) ultra-reliable and low latency communications (uRLLC) และ massive machine type communications (mMTC) เพื่อตอบสนองความต้องการของการสื่อสารในโลกอนาคต ที่เน้นการรับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วสูง อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประมวลผลแบบอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องใช้คนควบคุม ทำให้สมองกลอัจฉริยะ (artificial intelligence-AI) ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

หากไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ได้ ก็จะสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมาก ยอดขายและการผลิตอุปกรณ์ไอโอทีจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด หลังมีเทคโนโลยี 5G แล้วค่าใช้จ่ายทางด้านไอโอทีทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกการลงทุนด้านไอโอทีจะสูงสุด ส่วนในไทย อุปกรณ์ทางด้านไอโอทีและมือถือรุ่นใหม่สำหรับเทคโนโลยี 5G เติบโตได้แค่ระดับหนึ่ง อันเป็นผลจากกำลังซื้ออ่อนแอ

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ประกอบกับ อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (internet of things-IOT) ในรูปแบบของสัญญาอัจฉริยะ หรือ smart contract จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับการทำสัญญาในแบบเดิม เพราะมีการประมวลผลโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ artificial intelligence (AI) ลดปัญหาข้อขัดแย้ง ดุลพินิจ การต่อรอง และความผิดพลาดของมนุษย์ เกิดการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในเกือบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกรรมทางธุรกิจ

จากข้อมูลวิจัยจากการร่วมมือกันของ IHS Markit และมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐต่าง ๆ เช่น UCLA Berkeley และหน่วยงานของ UN ประเมินว่า 5G จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคต และเป็นเทคโนโลยีสำหรับบริการเกือบทุกประเภท กลายเป็นเทคโนโลยี general purpose technologies (GPT)

โดย IHS ประเมินว่า เทคโนโลยี 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและธุรกิจถึง 12.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างตำแหน่งและอาชีพใหม่ ๆ เพิ่มกว่า 22 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2578

อย่างไรก็ตาม มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในระดับดังกล่าวได้ในระยะ 15 ปีข้างหน้า ต้องมีการใช้เทคโนโลยี 5G ทั่วโลก ซึ่งยังมีอุปสรรคเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาและความสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี นอกจากนี้ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของโลกประชากรยังขาดแคลนแม้กระทั่งปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ เทคโนโลยี 1G หรือ 2G ยังไม่มีโครงข่ายพื้นฐานรองรับ และแม้มีตำแหน่งงานใหม่และโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายจากเทคโนโลยี 5G แต่ยังจำเป็นต้องดูแลผลกระทบกับงานแบบดั้งเดิมที่ถูกคุกคามต้องปรับตัวอย่างหนัก

ส่วนการประมูล การลงทุน และการเปิดให้บริการ 5G ในไทยนั้น น่าจะได้รับประโยชน์ในเชิงมูลค่าเศรษฐกิจ 2.3 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2578 แบ่งเป็น ผลประโยชน์จากเทคโนโลยี eMBB mMTC และ uRLLC ประมาณ 830 พันล้านบาท 677 พันล้านบาท และ 812 พันล้านบาท คาดว่าจะมีการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 ไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 ล้านบาท

การเปิดบริการ 5G สร้างผลประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรม ส่งผลดีต่อการสื่อสาร การแพทย์ การศึกษา และเกษตรกรรม การลงทุนพลิกโฉมธุรกิจอุตสาหกรรม กิจการและวิถีชีวิตผู้คน และพฤติกรรมผู้บริโภคในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอย่างมาก แต่หากไม่มีการวางแผนและมียุทธศาสตร์ที่ดี จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ธุรกิจรายกลาง รายใหญ่ ปรับตัวไม่ได้จะกระทบหนัก ผู้ไม่มีทักษะจะว่างงานเรื้อรัง เกิดโอกาสตำแหน่งงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมร่วมมือระหว่างองค์กรข้ามอุตสาหกรรม การพัฒนาเครื่องมือสื่อสารระยะไกล ทำให้พนักงานทำงานทางไกลได้มีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการฝึกอบรมและการศึกษาผ่านบรอดแบนด์ ส่งเสริมการใช้งาน AR และ VR ในกิจกรรม อาทิ สาธารณสุขทางไกล บันเทิง การสำรวจภาคสนาม มือถือทำงานได้เหมือนคอมพิวเตอร์ เป็น mobile computing เกิดท่อส่งข้อมูลขนาดใหญ่ cloud computing พัฒนาเป็น cloud เฉพาะด้านมากขึ้น พัฒนาศักยภาพระบบค้าปลีก ซื้อของออนไลน์ ระบบเมืองอัจฉริยะ (smart cities) ultra-reliable and low latency communications (uRLLC)

กล่าวคือ เทคโนโลยี 4G มีความล่าช้าในการรับส่งข้อมูลสูงกว่า 5G ถึง 10 เท่า (4G มีความล่าช้าในการรับส่งข้อมูลที่ 0.01 วินาที ส่วน 5G อยู่ที่ 0.001 วินาที) ทำให้การส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันเป็นแบบ real time มากขึ้น เหมาะกับงานที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง เช่น ระบบควบคุม รถยนต์ไร้คนขับ ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือระบบการแพทย์ระยะไกล เป็นต้น

จากการศึกษาของ McKinsey (2015) IOT จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดแก่ 1) ภาคการผลิต เกษตร และอุตสาหกรรม 2) ระบบจัดการเมือง บริการสาธารณูปโภค 3) ภาคขนส่งและโลจิสติกส์ อาจกล่าวได้ว่าคุณสมบัติ mMTC ประกอบกับ uRLLC จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้าน IOT อย่างมหาศาล

การเปิดประมูล 5G จึงต้องกำหนดขายไลเซนส์ให้เหมาะสมกับขนาดเศรษฐกิจไทย และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคตให้ดี นอกจากนี้ ใบอนุญาตต้องไม่มากเกินไปจนเกิดปัญหาในธุรกิจแบบกิจการทีวีดิจิทัล

ที่สำคัญ รายได้ระยะสั้นของรัฐจากการประมูล 5G ประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท ไม่สำคัญเท่ากับผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมและรายได้ในระยะยาว