“Storytelling” คือ “จุดขาย”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

 

กครั้งที่เดินทางออกต่างจังหวัด ไม่ว่าจะถูกเชิญไป หรือไปด้วยตัวเอง ผมมักจะหาสถานที่เก๋ ๆ เพื่อนั่งกินข้าว จิบกาแฟ หรือพูดคุยอย่างกันเอง สบาย ๆ คนไม่ต้องมากมาย

เพื่อจะได้คุยสะดวก

สถานที่เหล่านี้ ถ้าจะว่าไปค่อนข้างหายากสักหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับหาไม่ได้เลย เพราะบางแห่งอาจอยู่ไกลจากผู้คน บางแห่งต้องโทร.จองล่วงหน้าถึงจะได้ไปได้กิน

หรือได้พักผ่อน

เพราะเขาไม่ได้เปิดต้อนรับผู้คนแบบสาธารณะ ประเภทใครไปก็ได้ ใครกินก็ได้ หรือใครต้องการพักผ่อนก็ได้ เพราะเจ้าของธุรกิจเขาไม่ได้ต้องการเงินขนาดนั้น

ทำแค่พอมีความสุข

ทำแค่ลูกค้าเฉพาะ ที่ต่างมีรสนิยมคล้าย ๆ กัน เพื่อจะได้มีความอิ่มเอมในสิ่งที่เสพเหมือน ๆ กัน ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่าแนวโน้มร้านอาหารแบบนิชมาร์เก็ต

กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

และไม่เฉพาะแต่ในมหานครกรุงเทพเท่านั้น

หากในต่างจังหวัดก็เริ่มมีร้านทำนองนี้

เกิดขึ้นมากด้วย

ผมไม่ทราบว่ามาจากเหตุผลใด ?

แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์ ผมเชื่อว่าร้านอาหารแบบนิชมาร์เก็ตน่าจะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของโลกโซเชียลส่วนหนึ่ง ที่ต่างแนะนำผ่านเฟซบุ๊กว่าร้านอาหารร้านนี้บรรยากาศดี

อาหารอร่อย

บริการดี

ราคาไม่แพง

แถมมีรสนิยมเฉพาะ เพราะเจ้าของร้านเป็นสถาปนิก, วิศวกร, อาร์ติสต์, นางแบบ, สจ๊วต หรือแอร์โฮสเตส และอื่น ๆ อีกหลายอาชีพ ที่ล้วนต่างมีเรื่องเล่า (storytelling) จนทำให้คนที่อ่านคำแนะนำจากเฟซบุ๊กรู้สึกอยากมาทันที

หรือไม่ก็ร้านอาหารแห่งนี้เคยเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์บุคคล ประวัติศาสตร์สถานที่ และประวัติศาสตร์เชิงมุขปาฐะ จนทำให้ผู้ที่รับรู้เรื่องราวต่างรู้สึกอยากมาเช็กอินสักครั้ง เพราะไม่เพียงจะทำให้ตัวเองรู้สึกเท่ ยังดูเป็นคนร่วมสมัย และมีรสนิยมด้วย

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะไม่เกี่ยวอะไรกับร้านอาหารเลย เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกัน การขายอาหารของร้านต่าง ๆ พระเอก-นางเอกส่วนใหญ่คือเมนูของร้านอาหารนั้น ๆ

ให้อยู่ไกลแค่ไหนก็ต้องไปกิน

แต่ปัจจุบัน อาหารไม่ใช่พระเอก-นางเอกอีกต่อไปแล้ว เพราะสิ่งที่ผสมปนเปไปกับร้านอาหารนิชมาร์เก็ตจะต้องมี storytelling เจือปนอยู่ด้วย

ทั้งยังจะต้องมีสไตล์การตกแต่งร้านแบบเฉพาะทาง ดูเก๋ไก๋

ไม่ว่าจะเป็นทรงไทย, ทรงยุโรป, ชิโน-โปรตุกีส หรือจะออกแนวละตินอเมริกาก็ตาม ทั้งนั้นเพื่อให้ลูกค้ามี

โอกาสเช็กอิน แชร์สถานที่ และอัพเดตรูปขึ้นเฟซบุ๊ก

เพื่อบอกพรรคพวกว่าตัวเองอยู่ที่นี่

กินอาหารร้านนี้

เพื่อยั่วยวนให้พรรคพวกของตัวเองมากดไลต์ และมาคอมเมนต์ในมุมต่าง ๆ จนทำให้เพื่อนหลายคนพลอยอิจฉา และแชร์ส่งต่อไปยังเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ให้ทราบ

แต่ทั้งนั้นร้านอาหารเหล่านี้จะต้องเป็นจริงดั่งที่เขาเล่าด้วย

หากไม่ได้เรื่องหรือไม่มีความเป็นจริงเจือปนอยู่เลย เขาก็หลอกลูกค้าที่มีโอกาสพลัดหลงเข้ามาเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น ส่วนที่เหลือเขาไม่มาหรอก

เพราะรู้สึกว่าถูกหลอก

ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าหากใครจะทำร้านอาหาร, บูติคโฮเทล หรือโฮสเทลอะไรก็ตามที่จับลูกค้าเฉพาะทางจะต้องครบเครื่องด้วยเรื่องราวที่ผมบอกมา รับรองได้ว่าสิ่งที่คุณทำจะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

แต่ราคาอย่าแพงมากขอให้สมเหตุสมผล

มีความเป็นธรรมต่อลูกค้า

และมีบริการอย่างดีเยี่ยม พวกเขาจะไม่ไปไหนหรอกครับ รับรองเขาต้องมาหาคุณอย่างแน่นอน เพราะจากประสบการณ์ของผมในการเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ มากมาย

ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผมเห็นมานักต่อนักแล้วว่าเรื่องของ storytelling ใช้ได้ผลจริง ๆ

ขอให้มีเรื่องราวบอกกล่าวให้นักชิม, นักท่องเที่ยวไปบอกเล่าต่อในเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม และไลน์ได้อย่างไม่รู้จบ รับรองสิ่งที่คุณทำ จะถูก

พูดถึงในโลกออนไลน์อย่างไม่รู้เบื่อ จนอาจดังภายในชั่วข้ามคืน

เพราะฉะนั้น ใครที่คิดจะทำร้านอาหารแบบนิชมาร์เก็ต ลองนำประสบการณ์จากสิ่งที่ผมเล่าให้ฟังไปลองทำดู เผื่อบางทีคุณอาจจะประสบความสำเร็จเหมือนกับพวกเขาบ้าง

ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ด้วย

เพราะทุกคนอยู่ในภาวะชะงักงัน แต่ถ้าเราลงทุนก่อน ทำก่อน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก่อนก็ย่อมมีอยู่เช่นกัน

ลองดูนะครับ ?