ยื้อออกกฎคุมเข้ม OTT ตอบให้ชัด

บทบรรณาธิการ

ถูกจับตามองว่าอีกไม่นาน ยักษ์โซเชียลมีเดีย กับผู้ให้บริการคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต จะถูกออกประกาศคุมเข้มโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เหมือนกับที่หลายประเทศพากันทยอยออกกฎกติการองรับ

เพราะหลังบอร์ด กสทช.มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นพิจารณารายละเอียด ขอบเขตการให้บริการ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในการให้บริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์บนโครงข่ายอื่น ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) หรือการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายวิทยุ-โทรทัศน์แบบเดิม ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. 2560 ที่ผ่านมาคืบหน้าเป็นระยะ ๆ

ขณะที่บอร์ด กสทช. รวมทั้ง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ก็ย้ำมาตลอดว่า เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน พร้อมตั้งเป้าหมายว่ามาตรการกำกับดูแล OTT อาทิ ยูทูบ, เฟซบุ๊ก, เน็ตฟลิกซ์, ไอฟลิกซ์ ฯลฯ จะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2560

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ต้นสัปดาห์ก่อน ที่ประชุม กสทช.มีมติให้การออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการกำกับดูแล OTT เริ่มต้นกลับไปนับหนึ่งใหม่ โดยให้คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ OTT ไปดำเนินการภายใน 30 วัน จากนั้นให้จัดประชาพิจารณ์อีก 60 วัน ก่อนเสนอบอร์ด กสทช.อนุมัติประกาศบังคับใช้ หรือต้องใช้เวลาอีก 90 วัน กว่าหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการกำกับดูแล OTT จะเสร็จเรียบร้อย ตรงกับช่วงโค้งสุดท้ายที่ กสทช.ชุดนี้จะสิ้นสุดวาระพอดี

ทำให้หลายฝ่ายค่อนข้างเป็นห่วง ขณะเดียวกันก็มีคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดจู่ ๆ บอร์ด กสทช.ซึ่งที่ผ่านมาแสดงทีท่าแข็งกร้าว ต้องการต้อนผู้ให้บริการ OTT เข้ามาอยู่ในระบบโดยเร็ว จึงผ่อนเกียร์เดินหน้ากะทันหัน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลความไม่พร้อม ต้องการศึกษาทบทวน หลักเกณฑ์เงื่อนไขในการควบคุมดูแล OTT ให้เข้มงวดรัดกุมขึ้น หรือแม้กระทั่งปมขัดแย้งภายใน กสทช. จนเกิดวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ ก็ควรชี้แจงให้ชัดเจนว่า กฎกติกาจะออกมาเมื่อใด และในช่วงสุญญากาศอย่างเวลานี้มีหลักประกันใดบ้างช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้เทคโนโลยียุคใหม่จะช่วยให้การติดต่อสื่อสารรวดเร็วกว้างขวาง การดำเนินชีวิตสะดวกสบายขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ แต่ผลกระทบด้านลบด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยก็มีตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง กสทช.จึงต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับข้อห่วงกังวลของสาธารณชน ที่สำคัญต้องให้ชัดเจนด้วยว่า แม้การออกมาตรการกำกับดูแล OTT จะล่าช้าออกไปก็เพื่อให้ครบถ้วนรอบด้าน ไม่ใช่ยื้อไปไม่มีกำหนดไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม