แม่พิมพ์ของชาติ 4.0

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

เป็นประเด็นดังของแวดวงครู-ผู้สนใจด้านการศึกษา ถึงแนวคิดสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เสนอปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตครู 5 ปี กลับไปเป็นหลักสูตรครู 4 ปี เหมือนเดิม และเตรียมประกาศใช้ในปี”61

โดยความเชื่อที่ว่า การเรียนครู 4 ปี หรือ 5 ปี ให้ผลไม่แตกต่างกัน ขณะที่ฝั่งไม่เห็นด้วยมองว่า การเรียนครู 5 ปีเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2547 โดยเชื่อว่าการเรียนครูเพิ่มอีก 1 ปี ทำให้ครูมีความรู้-ประสบการณ์การฝึกสอนที่แน่นกว่า และสอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาในหลักสูตรที่ว่า มาเป็นแนวคิดปรับหลักสูตร “ผลิตครู” สร้าง “แม่พิมพ์ของชาติ” ที่เป็นต้นธารสายแรกของการสร้าง “คน”

เห็นข่าวความเคลื่อนไหวการผลิตครูที่ยังมีข้อเห็นต่างของผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษา ไล่ ๆ มากับประเด็นด้านการศึกษา 2 เรื่อง ที่ได้ติดตามช่วงนี้ พบว่าน่าสนใจมาก จนอยากบอกว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” บางครั้งก็มาในรูปแบบที่เรียกว่า “นอกหลักสูตร” แต่มีแนวคิดอยากผลักให้ระบบการศึกษาไทยมีประสิทธิภาพ ผ่านการวางโครงสร้างเตรียมคนรับอนาคต แบบไปถูกทิศ

ขอเริ่มจากประเด็นแรก ที่รายการฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ live บนเพจเฟซบุ๊ก หนุ่มเมืองจันท์ ซึ่งไลฟ์สตรีมมิ่งคุยสดกับ “เต๋อ” สาธร อุพันวัน เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ เจ้าของสถาบันกวดวิชาระดับต้น ๆ ของประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สารพัดปัญหารากเหง้าการศึกษาไทยหลายเรื่อง มักจะมีสถาบันกวดวิชาเป็นหนึ่งในปัญหาด้วย แต่ถ้ามองเพียงเหรียญด้านเดียว เรากำลังจะพลาดโอกาสดี ๆ สำหรับการสร้างคนในอีกด้าน

“เต๋อ” มีวิสัยทัศน์ที่อยากจะแบ่งปันอย่างเป็นรูปธรรม จนอาจเรียกเป็นกิมมิกเล็ก ๆ ได้ว่า “กระทรวงศึกษาฯภาคเอกชน” เขาเริ่มนำระบบการเรียนการสอนของ “ออนดีมานด์” ไปใช้ในโรงเรียนในชนบท สอนกับเด็กชาวเขาที่ไม่ได้มีกำลังทรัพย์ ปรากฏหลักฐานคือ วัดผลการเรียนเด็ก ๆ ออกมาในระดับดี ไม่ต่างจากเด็กในเมือง ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าไม่เกี่ยวกับสมอง แต่เป็นเรื่อง “โอกาส” และการสอนที่ดี

จุดเล็ก ๆ นี้จุดประกายอะไรได้มาก เป็นหนึ่งในโครงสร้างเตรียมคนรับอนาคตแบบที่ทำได้ทันที ไม่ต้องรอ 4 ปี 5 ปี ผู้ที่สนใจเข้าไปชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่เพจเฟซบุ๊ก หนุ่มเมืองจันท์ โพสต์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ประเด็นที่สอง มีบทความน่าอ่านของ “ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล” ซีอีโอแห่งสิริ เวนเจอร์ เขาเก็บตกเรื่องราวจากที่เขาพูดในงาน Startup Thailand 2017 หัวข้อ “การศึกษาใหม่เพื่อโลกยุคใหม่” โดยบทความขยายความให้เห็นภาพการเตรียมตัวผลิต “คน” เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ผ่านการวางแผนการศึกษาที่ต้อง “เข้าใจ” ความเป็นไปของโลกและไปให้ถูกทิศ

มีการยกแนวทางสร้างคนในแผนปรับตัวระยะสั้น ด้วยการสร้าง Informal Education Platform ปูทางให้คนรู้จักการเรียนรู้เองจากแหล่งความรู้นอกระบบการศึกษา

ขณะที่แผนปรับตัวระยะยาว คือปรับปรุงการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะ “ตัวผู้สอน” ต้องสร้าง “วิธีคิด” ประเภท “ผู้ช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้” รวมทั้งครูเก่ง ๆ ในแต่ละวิชาควรสอนเด็กได้มากกว่าในห้องเรียนของตัวเอง ไม่ควรทำให้เป็นเรื่องเอ็กซ์คลูซีฟเอาไว้แค่โรงเรียนดังไม่กี่แห่ง

การศึกษาที่ดี คือสร้าง “มืออาชีพ” ในโลกยุคใหม่ สร้าง “คนอยากรู้” ขึ้นมา ทำให้เขากลายเป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้ไปตลอดชีวิต เพราะโลกยุคใหม่ ต้องการคนที่มีทักษะใหม่อีกมาก เพื่อรองรับอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ตบท้ายบทความว่า ต้องมีวิธีใช้จ่ายงบประมาณปีละห้าแสนล้านบาทด้านการศึกษาให้ได้ประสิทธิภาพกว่านี้ ใครสนใจอ่านบทความเต็มได้ที่ shakrit.com บทความเรื่อง “เตรียมคนสำหรับเศรษฐกิจใหม่”

อย่างที่บอกไว้ว่า แม่พิมพ์ของชาติ คือ ต้นธารที่ขาดไม่ได้ แต่ในปริมณฑลการศึกษา ยังมีลำธารเล็กลำธารน้อยของคนนอกวงการ อาจเป็นหนึ่งในองคาพยพไปสู่ 4.0 ที่เห็นภาพที่ลึก กว้าง และไกลขึ้น ในระดับที่แตะถึง 5.0