พ.ร.ก.ฉุกเฉินเดิมพันสู้ ‘โควิด’

สถานการณ์โรคไวรัสโควิด 19 ที่พุ่งขึ้นรายวันล่าสุด ยอดผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันทะลุ 1,000 ราย และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตัดสินใจใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. 2563

จากนี้ไป นายกฯจะควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด โดยใช้อำนาจในการบริหารจัดการ การบูรณาการ สั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมศูนย์ในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ในขั้นสูงสุด ทำให้สามารถควบคุม และบริหารสถานการณ์ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น

เริ่มจากการออกข้อกำหนด ข้อปฏิบัติ 16 ข้อ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไข เงื่อนเวลา เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาทิ การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ปิดสถานที่เสี่ยง ปิดช่องทางเข้าราชอาณาจักร ห้ามกักตุนสินค้า ห้ามชุมนุม ห้ามนำเสนอข่าวบิดเบือน ฯลฯ

พร้อมออกมาตรการให้ทุกจังหวัดเตรียมรับสถานการณ์ การดูแลความสงบเรียบร้อย การป้องกันโรค การควบคุมดูแลการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เป็นต้น ถือเป็นการใช้อำนาจพิเศษควบคุมป้องกันการระบาดของโควิดที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และยับยั้งการแพร่ระบาดไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่านี้

เป็นการนำยาแรงมาใช้เป็นเครื่องมือ โดยนายกฯ มีอำนาจเต็มในการออกมาตรการ ข้อห้าม ข้อปฏิบัติ ซึ่งแม้จะเดิมพันสูง ผลกระทบมีทั้งด้านบวกและลบ แต่หากเด็ดขาดในการแก้ปัญหา ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษด้วยความเสมอภาค ข้อมูลข่าวสารชัดเจนไม่เกิดลักลั่น หยุดการเคลื่อนย้ายคน เคลื่อนย้ายโรค จนสามารถควบคุมการแพร่เชื้อให้อยู่ในวงจำกัดได้ ก็มีโอกาสที่ยอดผู้ป่วยใหม่จะค่อย ๆ ลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินนอกจากหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ต่างจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น ต้องผนึกกำลังควบคุมป้องกัน โดยดำเนินการทุกมาตรการอย่างเข้มงวดแล้ว การได้รับความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงจากประชาชนในการป้องกันตนเอง คนรอบข้าง และสังคม โดยการปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศของทางการถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

ง่ายที่สุดคือการตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันอย่าการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เป็นต้น หากคนไทยพร้อมใจกันปฏิบัติมากขึ้นเท่าใด วิกฤตโควิด-19 ก็จะคลี่คลายได้เร็วขึ้นเท่านั้น