แอฟริกาใต้ : ดินแดนสีรุ้ง โอกาสการค้าและการลงทุน

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา โอบล้อมด้วยมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย มีขนาดใหญ่กว่าไทย 2 เท่า โดยมีประเทศเลโซโทตั้งอยู่ในใจกลางของแอฟริกา มีกรุงพริทอเรียเป็นเมืองหลวง เมืองเคปทาวน์ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของโลก เมืองเดอร์บันที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ เพชร ทอง ทองคำขาว เหล็ก และถ่านหิน

ในปี 2561 แอฟริกาใต้มี GDP 368,135ล้านเหรียญสหรัฐ มีประชากร 57 ล้านคน รายได้ต่อหัว 6,353.85 เหรียญสหรัฐต่อปีรวมทั้งยังมีจุดเด่นสำคัญ คือ เป็น “ประตูสู่ทวีปแอฟริกา” เนื่องจากความพร้อมทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าให้กับประเทศใกล้เคียงที่ไม่มีทางออกทะเล ได้แก่ บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี และซิมบับเว เป็นต้น

แอฟริกาใต้เป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Customs Union : SACU) ประกอบด้วย บอตสวานา เลโซโท นามิเบีย เอสวาตินี และแอฟริกาใต้ และยังเป็นสมาชิกสหภาพแอฟริกา หรือ African Union ซึ่งมีสมาชิกรวม 55 ประเทศ ล่าสุดผู้นำของประเทศในทวีปแอฟริกา 54 ประเทศ (ยกเว้นเอริเทรีย) ได้ลงนามในข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีภูมิภาคแอฟริกา (African Continental Free Trade Area : AfCFTA) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

โดย AfCFTA จะเริ่มลดภาษีนำเข้าในสินค้าและบริการรวมกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าภายในทวีปแอฟริกาสูงขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงอาจเห็นโฉมใหม่ของการเปลี่ยนการค้าในทวีปแอฟริกาในอนาคต

ซึ่งหาก AfCFTA มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว AfCFTA จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมประชากรกว่า 1,200 ล้านคน และมี GDP รวมกว่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แอฟริกาใต้ในฐานะประตูสู่ทวีปแอฟริกา จึงเป็นตลาดศักยภาพใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย

แอฟริกาใต้ยังมีข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ เช่น ความตกลงการค้าเสรีแอฟริกาใต้และสหภาพยุโรป SACU กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) อีกทั้งได้รับสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย ตุรกี แคนาดา ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะกับสหรัฐที่ได้รับการลดภาษีเป็นศูนย์กว่า 7,000 รายการสินค้า ภายใต้ Africa Growth and Opportunity Act (AGOA) ที่สหรัฐ ให้แก่ประเทศ Sub-Saharan Africa

โดยมีสินค้าที่ได้รับการลดภาษี อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้า ไวน์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าเกษตรแปรรูป รวมทั้งเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก

อย่างไรก็ดี แอฟริกาใต้ยังมีปัญหาการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 27.5 ในปี 2562 รัฐบาลแอฟริกาใต้จึงมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียวขึ้นในปี 2559 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติในการดำเนินธุรกิจในแอฟริกาใต้ โดยในปี 2561 มีเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศไหลเข้าแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากปี 2560

แอฟริกาใต้ยังได้กำหนดกลุ่มสาขาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมน้ำและการจัดการขยะ 2) กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต มุ่งเน้นการผลิตยานยนต์ เสื้อผ้า รองเท้าและเครื่องหนัง เครื่องสำอาง 3) กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง อาทิ เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมทหารและการบิน 4) กลุ่มบริการ ได้แก่ เศรษฐกิจภาคทะเล วิทยุและโทรทัศน์ ธุรกิจบริการข้ามชาติ

และ 5) กลุ่มทรัพยากรเศรษฐกิจ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ป่าไม้ แร่และเหมืองแร่ การแปรรูปสินค้าเกษตร และการประมง โดยปัจจุบันมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในแอฟริกาใต้แล้ว ทั้งสาขาการผลิตและธุรกิจบริการ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก ร้านอาหาร สปา

ไทยถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ โดยมีสัดส่วนตลาดถึงร้อยละ 70 แอฟริกาใต้มีแนวโน้มการบริโภคและการนำเข้าข้าวสูงขึ้น

นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ยังเป็นผู้นำเข้าสุทธิสินค้าแปรรูปทางการเกษตร เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก และมีความต้องการอาหารเกินกว่าปริมาณที่สามารถผลิตเองได้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป

รวมทั้งใช้แอฟริกาใต้เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าอาหารไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลได้อีกด้วย

แอฟริกาใต้ยังมีแผนการพัฒนาการผลิตยานยนต์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่มาลงทุนในสาขาอุตสากรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้น และยังมีแนวโน้มตลาดยานยนต์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งรถยนต์ในทวีปแอฟริกากว่าร้อยละ 50 ผลิตในแอฟริกาใต้ ปัจจุบันมีบริษัทค่ายรถยนต์รายใหญ่เข้าไปลงทุนในแอฟริกาใต้ จำนวนมาก

ได้แก่ โตโยต้า บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส-เบนซ์ นิสสัน และฟอร์ด โดยแอฟริกาใต้มีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ให้ได้ปีละ 1 ล้านคัน

จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนต่อยอดในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมยาง ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ ยางขอบกระจก เป็นต้น เพื่อป้อนชิ้นส่วนให้แก่โรงงานผลิตรถยนต์ ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากข้อตกลงทางการค้าที่แอฟริกาใต้มีอยู่ เพื่อส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบไปยังตลาดหลักอย่างยุโรปได้อีกด้วย

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไทยและแอฟริกาใต้ได้ตั้งเป้าที่จะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 จากมูลค่าการค้าปัจจุบันที่ 3,263 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562

ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการเปิดประตูสู่ทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะการผลักดันสินค้าที่มีศักยภาพของไทย อาทิ ข้าว ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ และเคมีภัณฑ์

รวมทั้งเปิดทางเพื่อให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของแอฟริกาใต้ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน เป็นต้น

“แอฟริกาใต้” จะไม่ใช่ดินแดนอันไกลโพ้นอีกต่อไป แต่จะเป็นดินแดนสีรุ้งที่จะเชื่อมโยงไทยกับทวีปแอฟริกาไว้ด้วยกัน