พัฒนาลุ่มน้ำสาขา “แม่ปิง” (จบ) เพิ่มศักยภาพพื้นที่เกษตร 1.7 แสนไร่

คอลัมน์ เปิดมุมมอง
นันทวรรณ ยิ้มแย้ม ทีมกรุ๊ป

ความต้องการการใช้น้ำภายในพื้นที่ ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงปัจจุบันมีทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปา อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การเกษตร และการรักษาสมดุลระบบนิเวศทางด้านท้ายน้ำ โดยมีการใช้ที่ดินส่วนใหญ่ไปในทางเกษตรกรรม แม้ว่า จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวจำนวนมาก หากแต่สถานที่พักแรม บังกะโล และเกสต์เฮาส์ของนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาไม่ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของโครงการ อีกทั้งพบว่าในพื้นที่โครงการไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ความต้องการใช้น้ำหลักจึงเป็นการใช้น้ำเพื่อการชลประทาน ส่วนในด้านอื่น ๆ มีปริมาณไม่มาก

การบูรณาการทั้งการขาดแคลนน้ำ และการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของแหล่งน้ำ และรองรับความต้องการใช้น้ำที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต จากผลการศึกษาแนวทางหลัก ๆ มี 4 ด้าน ได้แก่ ด้านปริมาณน้ำต้นทุน เช่น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ ปรับปรุงอ่างเดิมให้เก็บกักน้ำได้ความจุเพิ่ม โดยการยกระดับเก็บกัก หรือขุดลอกอ่างที่ตื้นเขิน การบริหารจัดการน้ำแบบอ่างพวง โดยผันน้ำจากอ่างที่มีประมาณน้ำมาก และตั้งอยู่ในที่สูงมาเสริมอ่างที่มีปริมาณน้อยกระจายน้ำเป็นโครงข่าย

การพัฒนาปรับปรุงสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำปิง มาเป็นน้ำเสริมในการเพาะปลูกในระยะฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้ง การปรับปรุงพัฒนาบ่อบาดาลที่ตื้นเขินหรือมีการอุดตัน เสียหาย เพื่อเป็นน้ำเสริมในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค ตลอดจนการปลูกป่าสร้างฝายแม้วเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและน้ำซับในป่าต้นน้ำ

ด้านความเสื่อมโทรมขององค์ประกอบต่าง ๆ ของโครงการ ที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน เช่น ตัวเขื่อนดิน อาคารระบายน้ำล้น ท่อส่งน้ำ และระบบส่งน้ำที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม บางแห่งมีปัญหาปริมาณน้ำต้นทุนจากการรั่วซึมไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แนวทางปรับปรุง เช่น ปรับปรุงอ่างรั่วจากร่องแกนวางในชั้นฐานรากซึมน้ำ โดยการก่อสร้างร่องแกนใหม่ให้เข้ากับสภาพทำนบเดิม เปลี่ยนท่อส่งน้ำที่ชำรุดจากการถูกกดทับหรือตะกอนตกจมจนอุดตันใหม่เกือบทั้งหมด

และเนื่องจากขนาดพื้นที่ใหญ่ เจ้าหน้าที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง ด้านการบริหารจัดการ แนวทางการดำเนินงาน เช่น การจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรการบริหารโครงการเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดทำแผนงบประมาณการปรับปรุงและบำรุงรักษา รวมถึงการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำให้เข้มแข็ง สร้างจิตสำนึกในการแบ่งปัน เลิกขุดสันเขื่อนแล้วพากันไปวางท่อกาลักน้ำและให้ราษฎรผู้ใช้น้ำเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการขาดแคลนน้ำ แก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงให้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำ ให้น้ำตามแผนการเพาะปลูก รักษาระเบียบด้านการจัดสรรน้ำ รวมทั้งหันมาช่วยกันลงแรงลงทุนทรัพย์ในการดูแลบำรุงรักษาองค์ประกอบของโครงการโดยรวมให้อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ด้านการเกษตร เน้นพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพดิน น้ำ และการตลาด ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมให้พัฒนาเป็นเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการตลาด และส่งเสริมพืชตัวใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาด

Advertisment

รวมถึงมีการวางแผนการเพาะปลูกที่กระจายช่วงเวลาของผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อให้ไม่เป็นการแย่งกันออกผลผลิต ลดความเสี่ยงเรื่องการถูกกดราคากรณีผลผลิตล้นตลาด และเป็นการลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากเกินไป