เมื่ออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ราคาพุ่งพรวดกว่า 1,000% !

FILE PHOTO : REUTERS/Aly Song/File Photo
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เรื่องหนึ่งที่ทำให้ทุกประเทศทั่วโลก รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศที่มีภารกิจให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกำลังกุมขมับก็คือ ภาวะขาดแคลนของอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการสู้รบตบมือกับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคระบาดโควิด-19

โดยประเทศไหน องค์กรใด ตั้งหลักไม่ทัน เป็นอันเกิดปัญหาภาวะขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็นเหล่านี้ ตั้งแต่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์, หน้ากากเอ็น 95 เรื่อยไปจนถึงชุดสำหรับป้องกันการติดเชื้อ หรือที่เรียกกันว่า ชุดพีพีอี ที่ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ในหลายประเทศ แม้แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ต้องติดเชื้อกันระนาวเป็นร้อยเป็นพัน ซึ่งปัจจุบันพบว่าคลังสำรองแห่งชาติอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาอยู่ในสภาพเตียนโล่ง ส่งผลให้แต่ละรัฐต้องแสวงหากันเอาเอง เช่นเดียวกับในอังกฤษ ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปวัน ๆ

แน่นอนปัญหานี้เกิดขึ้นจากการที่จู่ ๆ ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้พุ่งขึ้นมหาศาลทั่วโลก แถมยังเพิ่มกะทันหันในขณะที่เกิดปัญหาขึ้นทั้งในระบบการผลิตและระบบห่วงโซ่อุปทานเพราะการแพร่ระบาด โดยสมาคมองค์การด้านสาธารณสุขเพื่อการจัดซื้อ (เอสเอชโอพีพี) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาด โดยบริษัทให้บริการการปรึกษาในการจัดซื้อ 2 แห่ง สำรวจราคาเบื้องต้นของอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เหล่านี้พบว่า แทบทุกอย่างปรับราคาสูงขึ้นอย่างน้อยที่สุด 300 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึง 1,000 เปอร์เซ็นต์ บางอย่างเพิ่มสูงขึ้นกว่านั้นมาก

ตัวอย่าง เช่น หน้ากากอนามัยชนิด เอ็น 95 สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ราคาเดิมในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 0.38 ดอลลาร์ต่อชิ้น ราคาเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา อยู่ที่ชิ้นละ 5.75 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1,513 เปอร์เซ็นต์ ถุงมือยางไวนิลสำหรับใช้ในทางการแพทย์ เดิมราคาขายอยู่ที่ 0.02 ดอลลาร์ต่อชิ้น ปรับขึ้นเป็น 0.06 ดอลลาร์ต่อชิ้นเพิ่มขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์ ชุดเสื้อกาวน์ผลิตจากเยื่อกระดาษเคลือบสารเพื่อป้องกันเชื้อโรค สำหรับใช้ในการแยกผู้ป่วยติดเชื้อ เดิมขายกันอยู่ 0.25 ดอลลาร์ต่อชุด เป็น 5.00 ดอลลาร์ต่อชุด หรือเพิ่มขึ้น 2,000 เปอร์เซ็นต์ หน้ากากเฟซชีลด์ ป้องกันการติดเชื้อแบบใช้ซ้ำได้ ซึ่งเดิมขายกันอยู่ 0.50 ต่อชิ้น ตอนนี้ราคาขายอยู่ที่ 4 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 900 เปอร์เซ็นต์ ส่วนชุดพีพีอีที่ทำจากเยื่อกระดาษเช่นเดียวกัน ซึ่งใช้แล้วทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อนั้น เดิมขายกันอยู่ที่ 0.80 ดอลลาร์ต่อชุด ตอนนี้ขยับขึ้นเป็น 6.50 ดอลลาร์ เพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ลองคำนวณกันดู ทั้งหมดนั่นเป็นราคาขายส่ง ตามออร์เดอร์ที่สั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ราคาขายปลีกต่อชิ้น ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับราคาขายส่งที่ว่านั้นอีกมาก

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา นอกจากความจำเป็นต้องใช้มีมหาศาล ส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยให้แต่ละรัฐเข้าไปยื้อแย่งแข่งราคากันเอง จนแทบกลายเป็นการ “ประมูลแข่งกัน” ทำให้ราคาสูงขึ้่นมากเกินจำเป็น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกิจละโมบในแบบฉบับของทุนนิยมขนานแท้และดั้งเดิม กว้านซื้อไว้ในราคาถูกแล้วนำมาขายในราคาสูง จนแม้แต่คนผลิตเองยังตกใจ ตัวอย่าง เช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 3เอ็ม บริษัทผู้ผลิตหน้ากากเอ็น 95 รายใหญ่ที่สุดของโลก ยื่นฟ้องบริษัทอีกบริษัทหนึ่งในนิวเจอร์ซีย์ ชื่อเพอร์ฟอร์แมนซ์ซัพพลาย ที่เสนอขายหน้ากากเอ็น 95 ให้กับมหานครนิวยอร์ก มูลค่า 45 ล้านดอลลาร์ ในราคาที่สูงกว่าของ 3เอ็ม ถึง 500 เท่า ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายของ 3เอ็ม แต่อย่างใด

ขณะที่ในแง่ของสถานการณ์โดยรวมทั่วโลกนั้นก็ตกอยู่ในสภาพคล้ายคลึงกัน เมื่อประเทศผู้ผลิตหลายประเทศอย่างเช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย เผชิญปัญหาการแพร่ระบาดหนักอยู่ด้วย ตัดสินใจเข้มงวดกับการส่งออก ตลาดของสินค้าประเภทอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์เหล่านี้ก็กลายเป็นตลาดของ “ผู้ขาย” ไปโดยสมบูรณ์แบบ

โดย “ผู้ขาย” ที่ว่านี้คือ ประเทศจีน ที่เมื่อตั้งหลักจากการแพร่ระบาดใหญ่ได้ ก็เพิ่มการผลิตขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีบริษัทอีกมหาศาลที่ยื่นขออนุญาต ทั้งจดทะเบียนใหม่ ทั้งขยายขอบเขตธุรกิจจากเดิม เพื่อให้สามารถผลิตหรือขายอุปกรณ์เหล่านี้ได้ รวมแล้วมากกว่า 38,000 บริษัท ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการควบคุมคุณภาพ จนทางการจีนต้องลงดาบ เล่นงานบริษัททำนองนี้ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนหนึ่ง แต่ปัญหาก็ใช่ว่าจะหมดไป

นอกจากนี้ ระบบการซื้อ การขาย เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง การเป็นคู่ค้ากันมานานกี่สิบปีไม่มีความหมายอีกต่อไป ปัจจัยชี้ขาดคือการตกลงกันให้ได้โดยเร็วในราคาที่ดีที่สุด จ่ายเงินล่วงหน้าทั้งหมดทันที ถึงจะได้สินค้าไปอย่างที่ต้องการ หลายบริษัททำมาหากินง่าย ๆ เพียงแค่ทำตัวเป็นนายหน้าก็สามารถทำกำไรได้มหาศาล ข้อมูลจากบริษัทกฎหมายเพื่อการส่งออกและนำเข้าในจีน สะท้อนเรื่องนี้ได้เด่นชัด เพราะว่ามีผู้เสนอเงินให้กับบริษัทง่าย ๆ มากถึง 50,000 ดอลลาร์ แลกกับรายชื่อของผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อการส่งออกที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือเท่านั้น และยิ่งทำให้ต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหลายเพิ่มสูงขึ้นมหาศาลตามลำดับ

โดยบาปกรรมของระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาเช่นนี้ มาลงเอยที่บรรดาแพทย์ พยาบาล และประชาชนผู้เจ็บป่วยเรือนล้านในหลายประเทศทั่วโลก ที่เสี่ยงตายเพิ่มมากขึ้นตามลำดับนั่นเอง