“จีน” คู่แข่งส่งออกข้าว มีศักยภาพ-น่าจับตามองในอนาคต

ส่งออกข้าว

คอลัมน์ มองข้ามชอต

กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ EIC ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ในปี 2019 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน หรือหดตัว 33% จากปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกข้าวไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ เบนิน และจีน ซึ่งมีสัดส่วนปริมาณการส่งออกข้าวคิดเป็น 14% และ 6% ของปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวมของไทย ตามลำดับ โดยปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปยังเบนิน และจีน ในปี 2019 ลดลงถึง 37% และ 53% จากปี 2018 ตามลำดับ

จากการที่เบนินและจีนเป็นตลาดส่งออกข้าวที่มีการแข่งขันด้านราคา (price sensitive) การแข็งค่าของเงินบาทในระยะที่ผ่านมา จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณการส่งออกข้าว โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินรูปีอินเดียแข็งค่าขึ้นสะสมมากถึง 24% ข้าวไทยจึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดเบนิน เมื่อเทียบกับข้าวจากอินเดีย ส่งผลให้เบนินนำเข้าข้าวจากไทยลดลง และหันไปนำเข้าจากอินเดียแทน

ขณะที่ปริมาณการส่งออกข้าวไปตลาดจีนที่ลดลงถึง 53% YOY นั้น นอกจากจะเป็นเพราะการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ยังเป็นผลมาจากปริมาณสต๊อกข้าวในจีนเองที่อยู่ในระดับสูงมาก โดยข้อมูลจาก The United States Department of Agriculture (USDA) ระบุว่า ปริมาณสต๊อกข้าวในจีนในปีที่ผ่านมาแตะระดับ 115 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศนานถึง 10 เดือน แม้จะไม่มีการผลิตหรือนำเข้าข้าวเลยก็ตาม โดยเป็นผลมาจากรัฐบาลจีนสะสมสต๊อกข้าวเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการนำเข้าข้าวจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการนำเข้าข้าวของจีนในช่วงปี 2008-2018 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 26% ต่อปี อีกทั้งรัฐบาลจีนยังมีนโยบายขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวอีกด้วย ขณะที่ปริมาณการบริโภคและส่งออกข้าวของจีนเติบโตในอัตราที่ช้ากว่า ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกข้าวสะสมในจีนค่อย ๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 2018 สต๊อกข้าวในจีนแตะระดับ 109 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.9 เท่าจากปี 2008

ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นแนวโน้มการส่งออกข้าวของจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2019 ปริมาณการส่งออกข้าวของจีนอยู่ที่ 2.7 ล้านตัน ขยายตัว 32% จากปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังอียิปต์ และตลาดแอฟริกา อย่างโกตดิวัวร์ และแคเมอรูน รวมทั้งไนเจอร์ สาธารณรัฐคองโก โมซัมบิก และเบนิน ซึ่งล้วนเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ในอนาคตจีนอาจขยับมาเป็นคู่แข่งในตลาดส่งออกข้าวของไทยได้

สำหรับในปีนี้ EIC ประเมินว่า ผลกระทบจากการแข่งขันส่งออกข้าวของจีนในตลาดแอฟริกาน่าจะยังคงจำกัด เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ส่งผลให้จีนจำเป็นต้องสต๊อกข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ไทยอาจได้อานิสงส์จากการส่งออกข้าวไปจีนในระยะสั้น เนื่องจากครัวเรือนจีนมีการกักตุนข้าวเพื่อบริโภค

นอกจากนี้ หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ ประเทศผู้ผลิตข้าวที่สำคัญของโลกอย่างอินเดีย และเวียดนาม อาจจำกัดปริมาณการส่งออกข้าว โดยสต๊อกข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลักเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง และราคาข้าวน่าจะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ไทยมีผลผลิตข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศ และมีปริมาณเหลือมากเพียงพอสำหรับการส่งออก จึงนับเป็นโอกาสที่จะสามารถส่งออกข้าวท่ามกลางความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงในฤดูการผลิตปี 2019/2020 ส่งผลให้ผลผลิตข้าวไทยลดลงมาก จึงอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดย EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2020 น่าจะอยู่ที่ 7.0 ล้านตัน ลดลง 8% YOY ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี

ในระยะต่อไป EIC มองว่า หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง อาจส่งผลให้จีนกลับมาส่งออกข้าวมากขึ้น โดยหากจีนยังคงมุ่งส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบนิน และแคเมอรูน ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกข้าวของไทย ก็จะส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดดังกล่าวได้ เนื่องจากจีนมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคามากกว่า จากต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำและผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าไทยมาก

โดยปัจจุบันการเพาะปลูกข้าวในจีนได้ yield ถึง 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่การเพาะปลูกข้าวไทยได้ yield เพียง 460 กิโลกรัมต่อไร่ โดยราคาส่งออกข้าวจีนไปยังตลาดแอฟริกาอยู่ที่ 250-350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับไทยซึ่งอยู่ที่ 400-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สะท้อนถึงศักยภาพการแข่งขันด้านราคาข้าวของจีนที่สูงมาก

ประกอบกับแอฟริกาเป็นตลาดข้าวที่มีความอ่อนไหวต่อราคา ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนของทั้งไทยและจีนจึงมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวในตลาดแอฟริกาอีกด้วย นับเป็นความท้าทายของการส่งออกข้าวไทยที่ต้องจับตามองต่อไป

ทั้งนี้ ในการที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว ซึ่งหนึ่งในกลไกที่สามารถทำได้ คือ นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ โดยภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการรวมแปลงนาข้าวของเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด รวมถึงเกิดความคุ้มค่าในการนำ agritech มาใช้ในการเพาะปลูกข้าว เพื่อช่วยยกระดับให้ประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการเพาะปลูก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก

อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ตลาดบริโภคข้าวกลุ่มใหญ่ ทั้งในจีน และประเทศต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคา โดยตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มหันมาบริโภคข้าวพื้นนิ่ม ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นด้านความอ่อนนุ่ม ขณะที่ปัจจุบันผลผลิตและการส่งออกข้าวไทยส่วนใหญ่ยังเป็นข้าวพื้นแข็ง โดยมีเพียงข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งเป็นข้าวพื้นนิ่มที่มีการส่งออก แต่ยังมีราคาสูงกว่าข้าวของประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ พันธุ์ข้าวพื้นนิ่มของไทย เช่น กข.77, กข.79, กข.81 เป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการส่งออกเพื่อตอบโจทย์การบริโภคข้าวกลุ่มใหญ่ในตลาดโลกได้ แต่ยังต้องได้รับการพัฒนา ทั้งการลดระยะเวลาการเพาะปลูก การเสริมสร้างความทนทานต่อโรคพืช แมลง และความผันผวนของภูมิอากาศ รวมไปถึงการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้มีผลผลิตมากเพียงพอต่อการส่งออก ในระดับต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำ เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดข้าวโลกได้

นอกจากการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์ตลาดบริโภคข้าวกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดที่แข่งขันด้านราคาแล้ว ไทยยังต้องพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเกรดพรีเมี่ยมควบคู่กันไป โดยใช้โอกาสจากแนวโน้มที่ผู้บริโภคในตลาดโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรป เปิดรับการรับประทานข้าวหลายประเภท ขยายตลาดส่งออกข้าวเกรดพรีเมี่ยม เช่น ข้าวสี (coloured rice) ข้าวกล้อง ข้าวออร์แกนิก ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อกระจายตลาดการส่งออกข้าวให้หลากหลายมากขึ้นด้วย