หนุ่มเมืองจันท์ : ทางใหม่จากปัญหา

คอลัมน์ Market-Think
โดย สรกล อดุลยานนท์

“วิกฤต” ก็เหมือนกับสถานการณ์ไฟไหม้บ้าน.

ใครจะไปนึกว่าเราจะสามารถรีดพลังเหนือมนุษย์ที่ไม่คิดว่าเราจะทำได้ออกมา

วันนี้หลายคนทำงานเหมือนกับคนที่ยกโอ่งน้ำขนาดใหญ่หนีไฟ

ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

ไม่นึกว่าจะทำได้ก็ทำได้

แม้ “ไฟโควิด” ยังคงลุกโชน แต่เราก็ได้รู้ว่าพลังแห่งการเอาชีวิตรอดของเรามากมายขนาดไหน

ช่วงที่ผ่านมาผมได้คุยกับ 3 นักธุรกิจหญิง

“แต๋ม” ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ซีอีโอของดุสิตธานี

เธอเลือกทางสายที่ยาก คือ การรักษาคนทั้งหมดเอาไว้ แม้ว่าธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตอยู่ในช่วงยากลำบากอย่างยิ่ง

ในมุมหนึ่งเป็นเรื่องความรู้สึก

แต่อีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องการบริหาร

ธุรกิจบริการต้องใช้คน

การฝึกพนักงานคนหนึ่งให้มีทักษะด้านการบริการตามมาตรฐานของดุสิตธานีต้องใช้เวลายาวนาน

“แต๋ม” ใช้ช่วงเวลาปิดเทอมของโรงแรมทำในสิ่งที่อยากทำมานาน

เช่น ปรับปรุงสระว่ายน้ำของโรงแรม

ที่ผ่านมาโรงแรมไม่เคยซ่อมสระว่ายน้ำแบบเต็มที่ได้เลย

ส่วนอื่นปิดซ่อมได้ แต่สระว่ายน้ำไม่ได้ เพราะลูกค้าต้องการใช้บริการ

นี่คือ โอกาสทอง

“แต๋ม” บอกว่าให้คอยดูสระว่ายน้ำที่หัวหิน

อาจเป็นครั้งแรกที่มีการปรับปรุงใหญ่แบบเต็มรูปแบบ

เช่นเดียวกับการฝึกอบรมพนักงาน

ไม่เคยมีช่วงเวลาที่จะพร้อมทั้งคนและสถานที่เท่ากับตอนนี้

เช่นเดียวกับ “สี่รัก คุณประภากร” ของโรงแรมมณีจันท์รีสอร์ทที่จันทบุรี

สิ่งแรกที่ทำ คือ การปรับปรุงสระว่ายน้ำใหม่

คงเป็นความอัดอั้นของคนทำโรงแรม

นอกจากนั้นถ้ามีจุดไหนของโรงแรมที่ต้องซ่อมแซมหรือปรับปรุง

ไม่มีช่วงไหนเหมาะกับการลงมือเท่ากับช่วงนี้

ในส่วนของการหารายได้ “ครัวมณีจันท์” ที่ได้ “เชลล์ชวนชิม” ก็ทำอาหารพื้นเมือง เช่น หมูชะมวง ยำมังคุดทุเรียนเชื่อม ฯลฯ ขายทั้งในตัวเมืองจันท์

และดีลิเวอรี่เข้าเมืองกรุงด้วย

รับรองว่าอร่อยมาก

ล่าสุดเธอเพิ่มสินค้าใหม่ตามฤดูกาล

ทุเรียน มังคุด ก็ขายครับ

อะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ได้ทำ

ถามว่าอบรมพนักงานหรือเปล่า

“สี่รัก” บอกว่าอบรมเหมือนกัน

แต่เป็นการอบรมแนวใหม่

ให้หัดเลี้ยงปู

เธอซื้อบ่อกุ้งมาปรับปรุงเพื่อเลี้ยงปู

ทำอย่างไรให้ปูก้ามใหญ่กว่าเดิม

เป็นทักษะที่ “ดุสิตธานี” คงนึก

ไม่ถึง

หรือ “ปลา” อัจฉรา บุรารักษ์ เจ้าของ “ไอเบอรี่” และร้านอาหาร “กับข้าวกับปลา” และอื่น ๆ อีกมากมาย

แทบทุกร้านอยู่ให้ศูนย์การค้า

ทันทีที่ กทม.ประกาศปิดห้าง ทุกอย่างก็นิ่งสนิท

สุดท้ายเธอก็ต้องปรับแผนมาขายอาหารดีลิเวอรี่บ้าง

แปลงกายเป็น “เจริญแกงโภชนา”

ทำเมนูแบบ “ข้าวแกง” รสชาติแบบ “กับข้าวกับปลา”

เพราะเธอเชื่อว่าคงมีคนอยากกินข้าวแกง

ที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องการทำราคาให้จับต้องง่ายขึ้นโดยไม่เสียแบรนด์เดิม

เริ่มจากครัวของร้านที่ทองหล่อ แล้วขยายไปอีก 2-3 จุดในเมืองกรุง

อร่อยมาก

ยอดขายใช้ได้เลยครับ

แม้จะเทียบกับรายได้ในช่วงปกติไม่ได้

แต่เป็นช่องทางใหม่ที่น่าสนใจมาก

ร้านอาหารใหม่ที่ไม่มี “ร้าน”

ถ้าไม่มีวิกฤตคงไม่คิดเดินทางยากเส้นทางนี้

ครับ ระหว่างที่กำลังกลั้นหายใจเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตครั้งนี้

อยากให้ทุกคนหันมาชื่นชมตัวเองบ้าง

ปรบมือให้กับสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำได้ แต่ได้ทำแล้วในวันนี้

เพื่อเป็นพลังให้ก้าวต่อไป

เป็นกำลังใจให้ครับ