โควิด : ความเสี่ยงต้องรับมือ จับตาหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นทั่วโลก

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบัน อาจจะแบ่งออกมาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น และ/หรือมีการระบาดน้อย ในที่นี้ คือ ตัวเลขการเพิ่มของผู้ติดเชื้อใหม่น้อย และจำนวนผู้ติดเชื้อรวมมีไม่มาก เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี ไทยก็น่าจะจัดในกลุ่มนี้ (ถ้าใช้ตัวเลขที่ทางการประกาศ อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อสังเกตว่าที่ตัวเลขต่ำ อาจเป็นเพราะมีการตรวจน้อย)

2.กลุ่มที่จำนวนผู้ติดเชื้อสูงมากกว่า 10,000 คน และผู้ติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มในระดับสูง ได้แก่ สหรัฐ และประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป อินเดีย

3.ประเทศที่เริ่มมีการระบาดรอบ 2 เช่น สิงคโปร์ ซึ่งเริ่มมีการแพร่ระบาดในช่วงแรก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ด้วยการควบคุมสถานการณ์อย่างทันท่วงที ทำให้การระบาดชะลอลง อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอก 2 เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน โดยรอบนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่กันในพื้นที่แออัด

นอกจากนี้ ในประเทศจีนก็เริ่มมีการระบาดรอบ 2 เช่นกัน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นชาวจีนที่เดินทางกลับมาจากรัสเซียเป็นหลัก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ประเทศส่วนใหญ่ดำเนินมาตรการ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน จำกัดการเดินทาง ยกเลิกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงการกักตัวเองภายในบ้านพัก หรือมาตรการปิดเมือง/ปิดพื้นที่ (ล็อกดาวน์) ซึ่งทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงัก และส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งประชาชนและธุรกิจ จนทำให้มีกระแสเรียกร้องให้มีการผ่อนคลาย

องค์การอนามัยโลกได้เตือนว่า การปลดล็อกดาวน์เร็วเกินไปอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงของการระบาดรอบ 2 หากจะผ่อนคลายการปิดเมืองควรจะพิจารณาให้ดี โดยยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากป้องกัน เปิดเฉพาะกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ และที่สำคัญ ต้องมีระบบการตรวจ (test) ติดตามผู้มีความเสี่ยง (trace) แยก (isolate) และรักษา (treat) ซึ่งในหลายประเทศก็ยังมีข้อจำกัด รวมทั้งความพร้อมของโรงพยาบาล เครื่องมือ และบุคลากร ก็เป็นประเด็นที่ต้องเพียงพอด้วย

การปลดล็อกดาวน์น่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในกรณีของจีนปิดเมืองเกือบ 2 เดือน จึงปลดล็อกดาวน์ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการตามปกติได้ แต่เมืองอู่ฮั่นที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดถูกล็อกดาวน์ถึง 76 วัน (เพิ่งจะปลดล็อกดาวน์วันที่ 8 เมษายน)

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน คือ จีดีพีหดตัว 6.8% ในไตรมาส 1 ซึ่งระยะเวลาที่ปิดเมืองยิ่งยาว ยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง รัฐบาลจึงต้องพิจารณาความเสี่ยงทั้งด้านการแพร่ระบาดและความเสียหายทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นที่รัฐบาลต้องรับมือต่อจากนี้ คือ

1.แรงงานตกงาน เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ โดยมีการประเมินว่าในไทยน่าจะมีคนว่างงาน 5-10 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 เพราะธุรกิจต้องปิดชั่วคราว และหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป แรงงานยังไม่สามารถกลับไปทำงานได้ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับ (มาตรการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน จะเพียงพอหรือไม่)

2.ธุรกิจขาดสภาพคล่องและอาจต้องปิดตัว ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง (ภาคบริการ) เพราะถูกสั่งหยุดชั่วคราว และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากกำลังซื้อที่ลดลง ซึ่งการที่ธุรกิจไม่สามารถดำเนินกิจการตามปกติ ทำให้สภาพคล่องลดลง จะเห็นว่ามีหลายบริษัทใช้แผนรองรับทั้งการลดต้นทุน (เช่น ขอให้พนักงานลาพักไม่รับเงินเดือน หรือจ่ายบางส่วนในระหว่างพักงาน ขอผ่อนผันจ่ายค่าวัตถุดิบจากคู่ค้า ลดการจัดซื้อ ชะลอการลงทุน) และขายลดราคาสินค้าในสต๊อก

ทั้งนี้ เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้ดำเนินกิจการต่อไป โดยปกติธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กน่าจะมีกระแสเงินสด 1-3 เดือน ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อและมาตรการปิดเมืองยาวนานกว่าไตรมาส 2 น่าจะเห็นธุรกิจที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องจำนวนมาก และอาจต้องปิดตัว ทำให้ปัญหาการว่างงานรุนแรงขึ้น (มาตรการเงินกู้ผ่อนปรนต่าง ๆ ของรัฐบาลจะสามารถช่วยพยุงธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมาตรการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินจะช่วยลดความเสี่ยงของระบบการเงินโดยป้องกันการผิดนัดชำระหนี้จนเป็นสาเหตุให้ตลาดการเงินผันผวนได้หรือไม่)

3.การตกต่ำของเศรษฐกิจ ในช่วงที่การแพร่ระบาดเริ่มต้นและขยายตัว จนทำให้ต้องปิดเมืองนั้น มีความกังวลในเรื่องของการผลิต เพราะปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อคุมการระบาด แต่เมื่อปิดเมืองนานขึ้น ความกังวลข้างหน้าน่าจะเป็นเรื่องกำลังซื้อจะกลับมาหรือไม่ เพราะผลกระทบของโรคระบาดในครั้งนี้ กระทบทั้งด้านรายได้ (คนตกงาน) และราคาสินทรัพย์ (รายได้ค่าเช่า ราคาบ้าน รวมทั้งสินทรัพย์ทางการเงิน) รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคและการใช้จ่าย

นอกจากนี้ เศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงทำให้ประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวสูงอย่างไทย ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ลดลงด้วย (รัฐบาลคงต้องเริ่มคิดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19)

4.ภาวะหนี้ที่เพิ่มขึ้น วิกฤตครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจสูง และรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือทางการเงินทั้งเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันมาตรการภาครัฐทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 5-10% ของจีดีพี ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ภาครัฐของประเทศต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับไทยนั้น มาตรการที่รัฐบาลประกาศมานั้นมีมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท (มีทั้งเงินช่วยเหลือ ตั้งกองทุน และเงินกู้ผ่อนปรน) โดยประมาณ 800,000 ล้านบาท เป็นเงินที่รัฐบาลต้องกู้ตรงมาใช้ (ประมาณ 5% ของจีดีพี) ส่วนที่เหลือรับภาระชดเชยความเสียหายในภายหลัง ดังนั้นน่าจะเห็นหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านล้านบาทเป็นกว่า 8 ล้านล้านบาท

ในปีหน้า หากรวมการขาดดุลประจำปี การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐทั่วโลกจะเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ว่าจะดูแลอย่างไร