เปิดสถิติ 10 ปี Sell in May หุ้นไทย จับสัญญาณเทขายในวิกฤต “โควิด”

ปรากฏการณ์ “Sell in May” เป็นปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลก มักจะถูกเทขายในเดือน พ.ค. จนผลตอบแทนติดลบ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเอง ก็พบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET index) เดือน พ.ค. ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็มีจำนวนครั้งที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ อย่างไรก็ดี สำหรับปี 2563 นี้ ตลาดหุ้นไทยลบหนักไปตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้มีบางกระแสมองว่า ปีนี้ “Sell in May” อาจจะไม่ได้รุนแรง

“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) SET index ในเดือน พ.ค.ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -2% โดยมีถึง 8 ปีที่ผลตอบแทนติดลบซึ่งมีสาเหตุมาจากที่ตลาดหุ้นช่วงต้นปีส่วนใหญ่ได้สะท้อนปัจจัยบวกต่าง ๆ ไปแล้ว พอถึงเดือน พ.ค. ที่เป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศจ่ายเงินปันผล และมีการส่งเงินปันผลออกนอกประเทศ ทั้งยังเป็นช่วงที่นักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นไทยทยอยขายทำกำไร จึงส่งผลให้เกิด “Sell in May” ขึ้น

ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ค. 2563 นี้ แม้เม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันต่างประเทศ (fund flow) จะยังไม่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีก็จริง แต่ตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ค.นี้ ก็ยังมีความเสี่ยงถูกเทขายต่อเนื่อง จากปัจจัยลบ คือ สถานการณ์โควิด-19 ที่กดดันเศรษฐกิจไทย การท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก และปัญหาภัยแล้ง

“เราประเมินว่านักลงทุนต่างชาติ จะลดน้ำหนักการลงทุนในภูมิภาคเอเชียลงต่อเนื่อง โดยมีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่ต่างชาติจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุน เนื่องจากเป็นประเทศที่ MSCI ประกาศเพิ่มน้ำหนักการลงทุน และเป็นประเทศที่เกิดการระบาดของโควิด-19 แรก ๆ และ ผ่านจุดแย่สุดไปแล้ว”

โดยกลยุทธ์การลงทุน “กิจพณ” บอกว่าโอกาสปรับขึ้น (upside) ของ SET index เริ่มจำกัด หลังดัชนีปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 969 จุด มาอยู่ที่ 1,270 จุด เพิ่มขึ้นราว 570 จุด หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 31% ดังนั้น จึงแนะนำนักลงทุน “ถือเงินสด” และรอเข้าลงทุนอีกครั้ง เมื่อดัชนีปรับฐานไปอยู่บริเวณ 1,200 จุด

“ไม่ควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตอนนี้ หลังดัชนีผ่าน 1,250 จุดไปแล้ว เรามองว่านักลงทุนไม่ควรจะบู๊ และควรทยอยขายหุ้นมาถือเงินสดในพอร์ต 30% แต่ถ้านักลงทุนที่ไม่มีสัดส่วนเงินสดในพอร์ตเลย ก็แนะนำแบ่งขายเพื่อสำรองเงินสดไว้เข้าสะสมหุ้นเมื่อดัชนีปรับฐานลงมาแถวแนวรับ 1,200-1,220 จุด”

“อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การลงทุนในเดือน พ.ค. ต้องระวังความผันผวนเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งของเดือน เนื่องจากนักวิเคราะห์น่าจะเริ่มปรับประมาณการกำไร บจ. ปี 2563 ลงอีก หลังจากรับทราบผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบเต็มที่จากโควิด-19 และการปิดเมือง จึงคาดว่าผลกระทบหนักที่สุดน่าจะเกิดขึ้นกับผลประกอบการไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันนักวิเคราะห์ได้ปรับประมาณการกำไรของตลาดปีนี้ไปแล้ว 27.4% มาอยู่ที่ 74.0 บาทต่อหุ้น และปี 2564 ถูกปรับลงไป 19.4% มาอยู่ที่ 89.1 บาทต่อหุ้น

“บล.ทิสโก้ ประมาณการกำไรของตลาดที่ถูกปรับลงทุก ๆ 1% จะมีผลต่อการปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยประมาณ 13 จุด”

“อภิชาติ” กล่าวอีกว่า บล.ทิสโก้ ยังคงมีมุมมองว่าดัชนีหุ้นไทยในระดับปัจจุบันเริ่มมี upside จำกัด และช่วงนี้ไม่ใช่จังหวะซื้อเพื่อการลงทุน แต่เป็นการซื้อเพื่อการเทรดดิ้งรอบสั้น ๆ โดยแนวรับสำคัญของเดือน พ.ค.อยู่ที่ 1,270 จุด ขณะที่แนวต้านสำคัญของเดือน พ.ค. อยู่ที่ 1,320-1,330 จุด

ด้านฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ปีนี้เริ่มต้นเดือน พ.ค. มา ตลาดหุ้นทั่วโลก 71 ใน 94 ประเทศ ปรับตัวลดลงทั้งสิ้น และหากสังเกตจากดัชนี MSCI ACWI (ดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนหุ้นทั่วโลก) พบว่า ลดลงถึง 2.2% ตั้งแต่ต้น พ.ค.ถึงปัจจุบัน ขณะที่ไทยที่เพิ่งเปิดทำการวันแรกเมื่อ 5 พ.ค. ซึ่งในวันดังกล่าวดัชนีก็ลดลงทันที 1.77%

ส่วนหนึ่งเกิดจาก fund flow ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.มา ต่างชาติยังขายสุทธิตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาคกว่า 2.97 พันล้านเหรียญ รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ถูกต่างชาติขายสุทธิ 4.6 พันล้านบาท โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ได้มีการไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) 1 ปี ของไทยที่ลดลงมาทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 0.62%