วิกฤตโควิด-19 กำลังก่อวิกฤตหนี้โลก

FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/Illustration
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

โรคระบาดอย่างโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจไปทั่วทุกหัวระแหง ในทุกประเทศที่มันลุกลามไปถึง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลวงที่สุดครั้งใหม่ นับตั้งแต่โลกเคยเผชิญมาในช่วงทศวรรษ 1930

วิกฤตจากโรคระบาดหนนี้ใหญ่หลวงเพียงใด เห็นได้จากเม็ดเงินที่ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เทลงไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อพยุงให้ระบบสามารถอยู่รอดต่อไป

ทั่วโลกในเวลานี้ประกาศใช้เงินงบประมาณเพื่อการดังกล่าวนั้นออกมารวมแล้วไม่น้อยกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านวิธีการผ่อนปรนเชิงปริมาณด้วยการลงไปซื้อพันธบัตรและผ่านการจัดสรรงบประมาณของรัฐ

ยิ่งความเสียหายรุนแรงเท่าใด การบรรเทาและฟื้นฟูย่อมมากมายมหาศาลตามไปด้วย

ปัญหาคือภายใต้กระบวนการดังกล่าวซึ่งถือเป็น “ความจำเป็น” เหล่านั้น มวลหนี้ก้อนโตที่โลกเคยสั่งสมเอาไว้ตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี 2008 ยิ่งพอกพูนขึ้นมาอีกมหาศาล

ข้อมูลของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) บอกว่า นับตั้งแต่ปี 2007 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มวลหนี้ทั้งโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ 70 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนั้นเป็นหนี้สาธารณะ หรือหนี้ที่มีรัฐบาลเป็นลูกหนี้

ไอไอเอฟเตือนว่า เฉพาะปีนี้ ปริมาณหนี้เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีของทั้งโลกอาจเพิ่มขึ้นอีก 20 จุดถึงระดับ 342% ในกรณีที่เศรษฐกิจของทั้งโลกในปีนี้ติดลบ 3% และรัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมมากกว่าเมื่อปีที่แล้วขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว

แต่ในยามที่เศรษฐกิจของทั้งโลกอาจหดตัวลงไปมากกว่านั้น คาดกันไว้ว่าอาจอยู่ที่ราว 5-6% การก่อหนี้ก็เหมือนเป็นสิ่งจำเป็นพยุงให้มีชีวิตรอดต่อไปได้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินเอาไว้ว่า ภาวะขาดดุลภาครัฐคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของประเทศ จะพุ่งพรวดขึ้นเป็น 10% จากเดิมเมื่อปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ระดับแค่ 4% เท่านั้นเอง

แม้กระทั่ง เยอรมนี ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของยุโรป ยังต้องกู้เงินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2013

ใน สหรัฐอเมริกา ระดับการกู้หนี้ของกระทรวงการคลังในช่วงไตรมาส 2 รวมแล้ว เป็นสถิติเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าสถิติสูงสุดแต่เดิมกว่า 5 เท่าตัว

สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของสหรัฐ จะขยับเป็น 100% ในปีนี้ แล้วคาดว่าจะเพิ่มเป็น 125% ในปี 2030 จากระดับ 79% เมื่อปี 2019

การก่อหนี้ภาครัฐ เป็นความจำเป็นในยามนี้ก็จริง แต่ก็เป็นปัญหาท้าทายอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา เพราะหนี้ก็คือหนี้ กู้ยืมมาก็ต้องชำระคืนบวกกับดอกเบี้ย

ในที่สุดก้อนหนี้ก็จะกลายเป็นตัวถ่วงไม่ให้เศรษฐกิจขยับขยายตัวออกไป เพราะรัฐมีรายได้แค่ไหนก็ต้องหั่นส่วนหนึ่งมาชำระหนี้คืน ยิ่งหนี้มหาศาลเท่าใดแรงฉุดยิ่งมหาศาลมากเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจำเป็นต้องทำ วนเวียนอยู่เช่นนั้นจนเป็นวัฏจักร

แองเกล เกอร์เรอา เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) อุปมาเอาไว้ให้เห็นภาพว่า ประเทศที่มีหนี้สินก็เหมือนเครื่องบินพยายามจะขึ้นบินโดยมีน้ำหนักหนี้มหาศาลถ่วงรั้งอยู่

ที่แล้วมาว่าหนักแล้ว ตอนนี้เรากำลังเพิ่มน้ำหนักหนี้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะโควิด-19

อัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ สามารถเอื้อให้ประเทศบางประเทศก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างเช่นในกรณีของ ญี่ปุ่น ที่มีหนี้สูงถึงระดับเกินกว่า 200% ของจีดีพี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยติดลบ ก็ยังสามารถออกพันธบัตรรัฐบาลออกมาให้ธนาคารกลางรับซื้อต่อไปได้

แนวทางอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ดอกเบี้ยที่จำเป็นต้องชำระอยู่ในระดับต่ำ และใช้หนี้ได้แบบเดียวกันนี้ กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคตอันใกล้

แต่ในหลาย ๆ ประเทศ จะใช้วิธีการแบบเดียวกันนี้ไม่ได้ เพราะตรึงดอกเบี้ยไว้ต่ำมานานปีแล้ว ผลก็คือหลังเกิดการระบาด สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพียิ่งเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเช่นประเทศ อิตาลี ที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำอยู่นานกว่า 5 ปีมาแล้ว ทำให้หนี้สินต่อจีดีพีอยู่ที่ 135% ในเวลานี้มีแนวโน้มจะขยับเป็น 170% ต่อจีดีพี

อิตาลีไม่สามารถดำรงสถานะเช่นนี้ต่อไปได้ ถ้าไม่สามารถหาทางออกด้วยการคิดค้นวิธีการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก ๆ ได้ ก็ต้องหันไปพึ่งพาความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ที่จะเป็นปัญหาก็คือ ประเทศที่ไม่มี “หลังพิง” เหมือนที่อิตาลีมี อย่างเช่น บราซิล ที่คาดกันว่าปีนี้ระดับหนี้จะกลายเป็น 77.2% ของจีดีพี หรือแอฟริกาใต้ ที่จะอยู่ที่ 64.9% ของจีดีพี เป็นต้น

ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายและความเจ็บปวดใหญ่หลวงกว่าประเทศพัฒนาแล้วไม่น้อยผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็ว ๆ ให้ทันกับการขยายตัวของหนี้และดอกเบี้ยไม่ได้ เป็นอันหมดที่พึ่งเมื่อนั้น

ทางออกที่เหลืออยู่ทางเดียวคือ “พักชำระหนี้” เท่านั้นเอง