จบศึกกู้ชีพการบินไทย คิวต่อไป “รถไฟ-รถเมล์”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ประเสริฐ จารึก

กลายเป็นข่าวใหญ่ อยู่ในความสนใจของคนไทยทั้งประเทศ กับภาระหนี้กว่า 2.44 แสนล้าน ของ “บมจ.การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ อยู่คู่คนไทยมา 60 ปี ที่ปัจจุบันตกอยู่ในสภาพ ไม่ต่างกับคนป่วยนอนรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู

รอเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านมาต่อลมหายใจ ให้อยู่รอดตลอดปี 2563 ขณะเดียวกันรอการ “ผ่าตัดใหญ่” นำไปสู่การฟื้นตัวในระยะยาว

แต่ด้วยมูลหนี้มหาศาล ทำให้ไม่มีใครกล้าประทับตรา-การันตี “แผนฟื้นฟู” ที่การบินไทยทำสไตล์ “เมดเล่ย์” รวมมิตรทุกอย่าง กู้ เพิ่มทุน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ลดคน โละฝูงบิน เพิ่มหน่วยธุรกิจใหม่

จะพาองค์กรที่มีปัญหาสะสมมายาวนานพ้นปากเหวได้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมการบินโลกที่ไม่เหมือนเดิม

เพราะไม่รู้จบโควิดแล้ว “การบินไทย” จะกลับมาแข็งแกร่งหรือไม่

ส่วนจะตัดขายทรัพย์สิน ดีดลูกคิดแล้วได้เงินไม่มากพอที่จะโปะหนี้

หนทางเดียวจะดึง “การบินไทย” ให้พ้นบ่วงหนี้ที่พันธนาการ คือ การยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลตามกฎหมายล้มละลาย แฮร์คัตหนี้ก้อนโตกับเจ้าหนี้ เพื่อนับหนึ่งรีสตาร์ตกันใหม่

ไม่ใช่แค่ “การบินไทย” ที่กระทรวงคมนาคม ต้องเร่งฟื้นฟูกิจการตามมติของ “คนร.-คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ”

ยังมี “การรถไฟแห่งประเทศไทย-ขสมก.” รอรัฐสางหนี้ที่แบกกันหลังอาน

โดย “การรถไฟฯ” รัฐวิสาหกิจเก่าแก่อายุ 123 ปี มีภาระหนี้สินจำนวนมาก ต้องกู้เงินนำมาใช้ในการดำเนินงานประมาณปีละ 1 หมื่นล้าน

ปัจจุบันมีหนี้ 176,000 ล้านบาท มีผลประกอบการในปี 2562 ขาดทุน 21,000 ล้านบาท

หากการรถไฟฯอยู่เฉย ๆ ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย ในปี 2566 หนี้สินจะเพิ่มเป็น 199,279 ล้านบาท และขาดทุน 25,646 ล้านบาท

แผนที่เสนอ คนร.เป็นแผนระยะยาว 10 ปี 2561-2570 เพิ่มขีดความสามารถการเดินรถจากรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายสีแดง ไฮสปีด ซื้อรถจักรและรถโดยสารใหม่

ปลดล็อกรับคนเพิ่ม 19,241 คน พัฒนาองค์กรไปสู่ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จากที่ดินในมือ 3.9 หมื่นไร่ ทั้งมักกะสัน แม่น้ำ กม.11 บางซื่อ

ล่าสุด คนร.ไฟเขียวตั้งบริษัทลูก “บริษัท บริหารทรัพย์สิน จำกัด” ดึงมืออาชีพมาบริหารพอร์ตที่ดินสร้างรายได้ เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติเร็ว ๆ นี้

ส่วนที่เหลือยังไม่สะเด็ดน้ำ โดยเฉพาะตั้งบริษัทลูกมาเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” มีไอเดียให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ลดภาระงบประมาณของรัฐ ยังคงลุ้นจะฝ่าด่านคนรถไฟและสหภาพแรงงานรถไฟไปได้หรือไม่

ในส่วนของ “ขสมก.” มีภาระหนี้สะสม 129,507.311 ล้านบาท แผนฟื้นฟูรอเสนอ คนร.เคาะเดือน ก.ค.นี้

มีเช่ารถใหม่จากเอกชน 2,511 คัน รื้อเส้นทางเดินรถ ลดพนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,781 คน ออกตั๋วรายวัน 30 บาทขึ้นได้ทั้งวัน นำที่ดินอู่จอดรถเปิดให้เอกชนพัฒนาสร้างรายได้ในระยะยาว

หากเดินตามแผน “ขสมก.” จะมีผลประกอบการพลิกเป็นบวกใน 7 ปี มีกำไรในปี 2572 แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐรับภาระหนี้ 110,199 ล้านบาท และอุดหนุนเงิน 9,674 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 ปี เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ก่อนจะยืนหยัดด้วยขาของตัวเอง

จะว่าไปแล้ว แผนพลิกฟื้นหนี้ “การบินไทย-รถไฟ-ขสมก.” พูดกันมานาน ผ่านมือมาหลายรัฐบาล

จนมาถึงจุดวัดใจ “รัฐบาลประยุทธ์” อย่างที่เห็นในปัจจุบัน