เขาหลอก-หลอกเขา

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า กระแสความตื่นตัวต่อการปรับองค์กรเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เริ่มถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น จึงทำให้หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มปรับโครงสร้างองค์กร

บางแห่งปรับโมดูลธุรกิจ

บางแห่งเริ่มเปิดรับตำแหน่งทางด้านดิจิทัลในแผนกต่าง ๆ

ที่สำคัญ บางแห่งถึงกับรีครูตพนักงานใหม่เข้ามาเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างมีการเตรียมการ จึงทำให้คิดต่อว่า หากโลกแห่งอนาคตอยู่ภายใต้การ “enter” อย่างเดียวจะทำอย่างไร

จะมีผลกระทบกับใครบ้าง ?

ยิ่งหลัง ๆ เห็นภาครัฐพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรองรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผมยิ่งเริ่มงงกับทิศทางของภาครัฐว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึง 4.0 ทั้งสิ้น

ไม่เว้นแม้แต่เกษตรกร คนขับแท็กซี่พ่อค้าแม่ขาย

ต่างปรับตัวเพื่อรับกับไทยแลนด์ 4.0 ทั้งสิ้น

ทุกคนต่างมุ่งไปข้างหน้า

ไปถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ

คิดก่อน ทำก่อน ประสบความสำเร็จก่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่นานผ่านมา เรายังสโลว์ไลฟ์กันอยู่เลย แต่ตอนนี้ไม่แล้ว ทุกคนต่างฟาสต์ฟอร์เวิร์ดกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนทำให้ผมคิดว่า เราต้องเร็วขนาดนั้นจริง ๆ หรือเปล่า

เร็วบ้าง ช้าบ้างได้ไหม

เพราะพื้นฐานแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะกับการวางโครงสร้างเพื่อรองรับกับระบบต่าง ๆ เพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ยังไปไม่ถึงไหน ถ้าจะให้มองตั้งแต่เรื่องการศึกษา ทั้งในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา เรามีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลน้อยมาก

ดังนั้น การผลิตบุคลากรออกมาเพื่อรองรับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อแรงงานไร้ทักษะ หรือมีทักษะในอนาคต ที่ไม่สามารถก้าวทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงได้

เช่นเดียวกับหลายองค์กรที่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยการลดขนาดขององค์กรให้เล็กลง และหันมาให้ความสำคัญกับเครื่องมือทางดิจิทัลมากขึ้น บางแห่งอาจใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน

หรือบางแห่งหันมาโฟกัสธุรกิจของตัวเองให้ชัดขึ้น

แต่กระนั้น ถ้ามองลงไปในแนวดิ่ง จะพบว่ามีเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่ทำได้ แต่หลายองค์กรมุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว โดยลืมมองไปว่า คนที่อยู่ข้างหลังเข้าใจหรือไม่

ตรงนี้จึงทำให้เกิดปัญหา

และเกิดช่องว่างที่ทำให้บริษัทที่ปรึกษาหลายแห่งหันมาจับธุรกิจที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการทำงาน และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น หากหลายประเทศทั่วโลก บริษัทที่ปรึกษาเหล่านี้กำลังมีงานเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

เพราะเขาต้องออกแบบองค์กรใหม่ ทั้งยังมีการจัดวางแคเรียร์พาทกันใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับพนักงานรุ่นใหม่ที่จะเข้ามา เช่นเดียวกันโครงสร้างเงินเดือน สวัสดิการ โบนัส ก็จะถูกออกแบบใหม่เช่นกัน

จะใช้แบบเดิมต่อไปไม่ได้แล้ว

เพราะพนักงานต้องการเติบโตเร็ว เงินเดือนสูง และที่สำคัญ ถ้าพวกเขาทำงานผ่านโมบายออฟฟิศจะยิ่งดี เพราะถูกจริตของพวกเขาที่ต้องการทำงานในลักษณะเช่นนี้

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ต่อไปคำว่า “ความผูกพัน” จะถูก “delete” ทิ้งไปด้วยหรือเปล่า เพราะคนเราทุกวันนี้ สื่อสารกันในอากาศหมดแล้ว แทบจะไม่มีแล้วกระมังที่จะเขียนจดหมาย แล้วบอกข้อความสำคัญตอนท้ายจดหมายว่า…ฉันคิดถึงเธอ

ฉันรักเธอ

ฉันห่วงใยเธอ

เพราะไลน์สติ๊กเกอร์คิดคำพร้อมภาพประกอบมาแทนความหมายเหล่านั้นหมดแล้ว แถมยังรวดเร็วกว่าด้วย แล้วใครจะเขียนจดหมาย แล้วใครจะโทรศัพท์บอก เพราะการสื่อสารในอากาศแทนใจเราได้ทุกอย่าง

โดยไม่เคอะเขินด้วย

แต่จริงหรือเท็จไม่รู้

โกหกหรือเปล่าไม่ทราบได้

เพราะเราไม่เห็นหน้า ไม่เห็นแววตา และสีหน้าที่พวกเขาเหล่านั้นที่พูดออกมา ผมจึงตั้งข้อสังเกตว่า การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติด้วย

ถ้าเป็นเรื่องครอบครัวก็ต้องใช้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เรา และคนภายในครอบครัวสะดวกขึ้น เพราะถึงอย่างไร การพูดคุยสื่อสาร การอบรมเลี้ยงดู การสอนสั่งที่ออกมาจากใจ ยังเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ๆ

เช่นเดียวกับพนักงานในองค์กร เราต้องใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ทั้งในเรื่องของความรวดเร็ว การอำนวยความสะดวกต่ออุปสรรคต่าง ๆ แต่ในเรื่องของการโค้ชเพื่อสอนงาน การสร้างความผูกพันในองค์กร การพัฒนาพนักงานให้มีความสามารถ จะต้องใช้การสื่อสารจากใจในการบริหารคน

ที่การสื่อสารในอากาศไม่สามารถสัมผัสได้

ฉะนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกจะพัฒนาไปอย่างไร องค์กรจะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้ได้ และจะต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน ไม่เช่นนั้น ตัวเรา และองค์กรเอง ก็จะถูกกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงหลอกเอาได้