เศรษฐกิจไทยยุคหลังโควิด-19 ความท้าทายของภาคธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ Krungthai COMPASS

ในขณะนี้เราเริ่มเห็นว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เริ่มชะลอลง จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศ เช่นเดียวกับในไทย เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ในมุมของการแพร่ระบาด เราอาจพูดได้ว่า เราผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว แต่ในมุมเศรษฐกิจ ความท้าทายอาจเพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นเท่านั้น

ช่วงครึ่งปีแรกปี 2020 ที่เศรษฐกิจหลายประเทศประสบภาวะหดตัวอย่างรุนแรง เราเห็นบทบาทของภาครัฐอย่างมากทั้งในภาคการเงินและการคลัง ในการประคับประคองเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเข้าซื้อคืนพันธบัตรในวงเงินไม่จำกัดของสหรัฐ และมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง หลายประเทศมีมูลค่าแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจสูงมาก โดยสัดส่วนของมาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น สหรัฐ แคนาดา และเยอรมนี มีสัดส่วนถึง 20% 11% 8% และ 5% ของจีดีพีตามลำดับ รัฐบาลไทยเองก็มีแพ็กเกจทั้งภาคการเงิน การคลัง ในการเยียวยาเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นถึง 11% ของจีดีพีในปี 2019

อย่างไรก็ดี แม้รัฐจะพยายามอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างมากก็ตาม การที่เศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาจุดเดิมได้คงต้องรอให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิมก่อน ในกรณีของไทย เพียงแค่ไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้ จีดีพีไทยก็หายไปถึง 10% แล้ว ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาได้เหมือนเดิมก็ต้องรอให้วัคซีนผลิตได้ก่อน อย่างเร็ว เราอาจมีวัคซีนให้ใช้ในช่วงต้นปีหน้า อย่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์ว่าไว้ หรืออาจเป็นช่วงกลางถึงปลายปีหน้า อย่างที่บิล เกตส์ ได้ให้ความเห็น

จากสถานการณ์เช่นนี้ CEO ราว 60% จากกว่า 3,000 บริษัททั่วโลกเห็นว่า คงไม่เร็วนักกว่าเศรษฐกิจ หรือจีดีพีจะกลับมาอยู่จุดเดิม ก่อนการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังน่าจะกลับมาได้ในลักษณะแบบ U shape กล่าวคือ เศรษฐกิจจะพบกับการหดตัวอย่างรุนแรงช่วงต้นปีนี้ และต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนานกว่าจะกลับมาในจุดเดิม ซึ่งไม่เพียงแต่ CEO จำนวนมากที่มีความเห็นลักษณะนี้ หลาย ๆ สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น S&P และ Oxford Economics ก็เห็นในทางเดียวกัน โดยมีการคาดการณ์ว่า กว่าเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศจะกลับมาจุดเดิมได้คงใช้เวลาราว 1-3 ปี

โดยเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีอยู่ก่อนแล้วอย่างจีน จะกลับสู่จุดเดิมได้ในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ประเทศในกลุ่มอียู และญี่ปุ่น จะทยอยกลับมาในช่วงหลังของปี 2021 ถึงช่วงหลังของปี 2022 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศซึ่งพึ่งพาการส่งออกและนักท่องเที่ยวจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก อาจกลับมาได้ช้ากว่า เช่น เศรษฐกิจเม็กซิโก ต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจตุรกี ซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจยูโรโซน หรือเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพาการส่งออกและนักท่องเที่ยวจากสหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น

แต่แม้เราน่าจะมีวัคซีนในช่วงปีหน้า และเศรษฐกิจอาจกลับมาสู่ระดับเดิมได้หลังจากนั้น แต่ผลกระทบของโควิด-19 ก็อาจก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงความปกติใหม่ (new normal) ลดลง ในทรรศนะของผู้เขียน ความท้าทายทางเศรษฐกิจของไทยหลังการระบาดของโควิด-19 จะมีอย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก คือ ความท้าทายเรื่องการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization)ซึ่งก่อตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผ่านการใช้นโยบายปกป้องทางการค้าต่าง ๆ ในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หากดูตัวเลขการเติบโตของปริมาณการซื้อขายสินค้าของโลกจะพบว่าลดลงต่อเนื่อง จากราว 5% ในช่วงต้นปี 2017 เป็นติดลบ 0.2% ในไตรมาส 4 ปี 2019

นูเรียล รูบินี (Nouriel Roubini) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้ซึ่งเคยทำนายว่า จะเกิดวิกฤต subprime ช่วง 2007-2008 ได้ให้ความเห็นว่า ประชาชนในบางประเทศที่เสียประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น บริษัทในประเทศย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน อาจเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการต่าง ๆในการสนับสนุนหรือกดดันให้ภาคเอกชนย้ายฐานการผลิตกลับมามากขึ้น ตลอดจนใช้มาตรการภาษีปกป้องบริษัทในประเทศมากขึ้น ซึ่งแรงกดดันนี้จะมากเป็นพิเศษ เนื่องจากโควิดทำให้เศรษฐกิจในประเทศถดถอย และทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ไม่เพียงแต่ภาครัฐ ภาคเอกชนก็อาจเป็นตัวเสริมการทวนกระแสโลกาภิวัตน์เช่นกัน เนื่องจากโควิดจะเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ เพิ่มศักยภาพของตนเอง เพื่อรับมือกับช่วงเวลาของการโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ และตระหนักว่าการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทาน และเครือข่ายกระจายสินค้าที่เชื่อมกันหลายประเทศว่า มีความอ่อนไหวต่อการถูกรบกวน (disruption) ในอนาคตบริษัทอาจยอมที่จะแลกกำไรที่น้อยลง กับความมีเสถียรภาพทางการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งกระแสทวนโลกาภิวัตน์จะกระทบกับประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกอย่างไทยเป็นอย่างมาก การย้ายฐานการผลิตสินค้าเพียงบางรายการก็อาจกระทบกับรายได้ส่วนใหญ่ของบางบริษัท และกระทบยอดส่งออกและจีดีพีไทยได้

ประการที่สอง คือ ความท้าทายเรื่องหนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด ในประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นระดับค่อนข้างสูงมาตั้งแต่ปี 2014 และคาดการณ์ว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมต่าง ๆ จะทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการปิดเมืองทำให้ครัวเรือนจำนวนมากสูญเสียรายได้จากการทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดแรงงานว่างงานสูงถึง 3-7 ล้านคน นอกจากนี้

การขาดรายได้อาจทำให้ครัวเรือนจำนวนหนึ่งต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย แม้จีดีพีและการว่างงานกลับมาจุดเดิมได้ แต่จำนวนหนี้สินและภาระหนี้ที่ต้องจ่ายที่เพิ่มขึ้น จะกดดันให้ครัวเรือนจำนวนมากลดการบริโภคลง และเสี่ยงเกิดหนี้เสียที่มากขึ้น บริษัทต่าง ๆ เองก็จะประสบปัญหาเรื่องหนี้ในลักษณะเดียวกัน โดยเราจะเห็นได้ว่าธุรกิจจำนวนมากกำลังประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากธุรกิจจำเป็นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเช่า ค่าพนักงาน แต่ต้องปิดร้านชั่วคราวจากการปิดเมือง โดยเฉพาะกับธุรกิจ SMEs ซึ่งมีความเปราะบางในเรื่องการชำระหนี้ โดยกว่า 30% ของ SMEs (ประมาณ 1.7 แสนราย) ประสบภาวะการขาดทุนอยู่ก่อนแล้ว

แม้ทั้งภาครัฐ และธนาคารจะมีการออกมาตรการพักชำระหนี้ การให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้กิจการยังดำเนินอยู่ได้ อย่างไรก็ดี หากการบริโภคของครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาหนี้หลังการระบาด ย่อมทำให้ธุรกิจไม่มีรายได้มากอย่างที่เคย เมื่อภาระการชำระหนี้เพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่กลับมา ธุรกิจจำนวนไม่น้อยย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสียมากยิ่งขึ้น และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอาจกดดันความสามารถในการลงทุนของเอกชนได้เช่นกัน

การจะหวังพึ่งให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างที่เคยทำในช่วงโควิด-19 ก็อาจไม่ง่ายดังเดิม เพราะมาตรการกระตุ้นและเยียวยาของภาครัฐในช่วงโควิดจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 41.2% ในปี 2019 เป็นประมาณ 59% ในปี 2021 แม้สัดส่วนดังกล่าวจะยังไม่ถือว่าเยอะ เมื่อเทียบกับประเทศอย่างสหรัฐ และญี่ปุ่น ซึ่งจะมีสัดส่วนดังกล่าวหลังโควิด-19 ที่ระดับ 130% และ 250% ตามลำดับ แต่ต้องไม่ลืมว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาต่ำกว่าอยู่แล้ว หากหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอย่างมาก การวางแผนและปรับเปลี่ยนแผนตลอดเวลาจะยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งแนวคิด 5Ps จากบทความใน Harvard Business Review อาจช่วยผู้ประกอบการได้ ในบทความแนะนำว่า ธุรกิจควรวางกลยุทธ์ทั้งในช่วงการระบาด หลังการระบาด และในช่วงภาวะปกติใหม่ (new normal) และสำรวจว่า ตำแหน่งทางธุรกิจ (position) อยู่จุดไหน ? วางแผน (plan) ว่าควรทำอะไรต่อ ? มุมมอง (perspective) ของโลกต่อธุรกิจของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร ? โปรเจ็กต์ (project) ใดควรได้รับความสำคัญก่อน ? และต้องเตรียมตัว (preparedness) อย่างไรจึงจะทำได้ตามแผนที่วางไว้ ?