โควิดทุบเศรษฐกิจครึ่งปีแรก 4.9 แสนล้าน บัณฑิตจบใหม่ว่างงาน 6-18 เดือน

บันฑิต ตกงาน นักศึกษา
คอลัมน์ ดุลยธรรม
โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ ม.รังสิต

หลังมาตรการผ่อนปรนหรือคลายล็อกดาวน์เฟส 3 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 จะช่วยทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัว หรือติดลบลดลงไม่ต่ำกว่า 1-2% โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบประมาณ 10-11% จากเดิมคาดว่าจะหดตัวประมาณ 12-13% ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมครึ่งปีแรกมีจีดีพีติดลบประมาณ (-5.44)-(-5.93)% ความเสียหายทางเศรษฐกิจขั้นต่ำจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก ไม่นับรวมความเสียหายของโอกาสทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม และการว่างงาน รวมทั้งต้นทุนค่าเสียโอกาสอื่น ๆ อยู่ที่ระดับ 496,713-455,233 ล้านบาท

โดยมาตรการการคลังและมาตรการการเงินรวมเม็ดเงินสาธารณะประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอต่อการฟื้นเศรษฐกิจและการสร้างตำแหน่งงานจำนวนมาก เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพียงช่วยประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงกว่าเดิมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การทรุดตัวและติดลบทางเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนจะกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่จะไม่มีผลต่อการขยายตัวของการจ้างงานใหม่ ๆ ในตลาดแรงงานมากนัก โดยแรงงาน ส่วนใหญ่ที่มีงานทำเป็นแรงงานที่มีประสบการณ์

จะมีนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรี และระดับวิชาชีพในเดือนมิถุนายนนี้ ประมาณ 280,000-300,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 60% ของแรงงานบัณฑิตใหม่เหล่านี้จะไม่สามารถหางานทำได้ในระยะ 6-18 เดือนข้างหน้า ส่วนนักเรียนในระดับมัธยมปลายและมัธยมต้นที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ จะมีโอกาสหางานทำได้มากกว่าหากไม่เลือกงาน แรงงานกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labour) จะเข้ามาทดแทนแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนที่ไม่เคลื่อนย้ายกลับมาทำงานในไทย

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือของรัฐจากงบประมาณและการกู้เงินเพิ่มเติม เป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเท่านั้น และช่วงแรกของการดำเนินงานทำได้ไม่ทั่วถึงและสับสน แม้ตอนหลังจัดระเบียบดีขึ้นบ้าง แต่การช่วยเหลือเป็นแบบกระท่อนกระแท่น เป็นเพราะระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารประเทศอ่อนแอ ระบบประกันสังคมไม่ครอบคลุมแรงงานอิสระ และเกษตรกร

ขณะเดียวกัน รัฐบาลตัดสินใจผิดที่ปิดน่านฟ้าช้าเกินไป ไม่เหมือนไต้หวัน แต่ตอนหลังกลับตัวทันจึงนำมาสู่ความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อได้ แต่ต้องแลกกับต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล การปิดเมืองกะทันหันแบบไม่เตรียมการช่วงแรก จนคนแห่เดินทางออกต่างจังหวัด และเกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อกระจายไปทั่วประเทศในช่วงเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบอาสาสมัครสาธารสุขในท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพจึงหยุดการแพร่กระจายได้ในหลายจังหวัด และมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับการระบาดระลอกสองได้

ทั้งนี้ จากงานวิจัยทางด้านเศรษฐมิติ พบว่าการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดธุรกิจ ปิดเมือง ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด และประกาศเคอร์ฟิว หากประมาณอย่างคร่าว ๆ การปิดเมืองทำให้การบริโภคลดลง เท่ากับ 3 แสนล้านบาทต่อ 1 เดือน หากปิดเมืองต่อไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมโดยไม่มีการผ่อนคลาย จะทำให้การบริโภคลดลงเท่ากับ 6 แสนล้านบาท

สำหรับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี ขณะนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปยังไม่ได้ประเมิน แต่โดยขั้นต่ำคาดว่าจีดีพีทั้งปีจะติดลบไม่ต่ำกว่า 5% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งความขัดแย้งในฮ่องกง เรื่องกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีน ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา การก่อการจลาจลในเมืองใหญ่จากปัญหาการเหยียดผิวในสหรัฐ ที่จะซ้ำเติมเศรษฐกิจและการลงทุนในสหรัฐที่มีปัญหาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการระบาดระลอกสองของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศในยุโรป และเกาหลีใต้ หลังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งความวิตกกังวลการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 จากการระบาดกลุ่มใหม่ในมณฑลจี๋หลิน และมณฑลเฮย์หลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ติดชายแดนรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุขไทยและพลังความร่วมมือของประชาชนชาวไทยทุกภาคส่วน จะช่วยให้การระบาดระลอกสองของไทยอาจไม่รุนแรงเท่าประเทศอื่น จะเป็นผลดีให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลัง